กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--หอการค้าไทย
ที่ประชุม กกร. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 มีความเห็นว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจโลกสะท้อนโมเมนตัมการฟื้นตัวในเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการประเมินของ IMF ล่าสุดที่ปรับเพิ่มคาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2560 ของหลายประเทศหลักทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และจีน อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้า ยังต้องต้องติดตามแนวนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อบรรยากาศการค้าและการลงทุนในโลก รวมทั้งทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดจนต้องติดตามการเลือกตั้งของหลายประเทศในยุโรป และการเจรจาเพื่อถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (BREXIT) นอกจากนี้ ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังมีแนวโน้มแกว่งตัวผันผวนตามปริมาณอุปทานของผู้ผลิตหลัก ทั้งกลุ่มโอเปก รัสเซีย และสหรัฐฯ อาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางต่างๆ
ทั้งนี้ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการจีนได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะสั้น 10 basis points ซึ่งเป็นการใช้นโยบายการเงินตึงตัวเร็วกว่าที่คาด เพื่อชะลอการก่อหนี้และน่าจะช่วยบรรเทาภาวะเงินทุนไหลออก โดยคาดว่า ในระยะถัดไป ทางการจีนอาจจะเพิ่มน้ำหนักการดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อประคองเศรษฐกิจในปี 2560 ให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ราว 6.5%
สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น ด้วยอานิสงส์จากโมเมนตัมของเศรษฐกิจโลก คาดว่าจะเป็นแรงส่งให้การส่งออกของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในปี 2560 โดยประเมินว่า การส่งออกอาจขยายตัว 1.0-3.0% ขณะเดียวกัน สัญญาณเชิงบวกจากเครื่องชี้เศรษฐกิจในช่วงต้นปี อาทิ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัว เมื่อประกอบกับแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะหลังการผ่านงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 (งบกลางปี) จำนวน 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งจะเริ่มเบิกจ่ายตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2560 ปรับตัวดีขึ้นจากในปี 2559 ทั้งนี้ เนื่องจาก กกร.ได้มีการคำนึงถึงผลกระตุ้นเศรษฐกิจจากงบกลางปีไว้แล้ว จึงเห็นควรคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ไว้ที่ 3.5-4.0% ตามเดิม
ในโอกาสที่ผู้แทน กกร. ได้แก่ นายเจน นำชัยศิริ ประธาน กกร. และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมคณะของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาอย่างเป็นทางการ โดยได้ เข้าพบ นายติน จ่อ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และ นางออง ซาน ซูจี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และที่ปรึกษาแห่งรัฐ เมื่อวันที่ 2-5 กุมภาพันธ์ 2560 นั้น ภาคเอกชนทั้งสองฝ่าย ประกอบด้วย สภาธุรกิจไทยเมียนมา สมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนครั้งประวัติศาสตร์ขึ้นถึง 16 ฉบับ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 ภายใต้ชื่อว่า Growing together Myanmar-Thai Business Partnership MOU signing Ceremony 2560 โดยมีสักขีพยานจากผู้นำภาครัฐของทั้ง 2 ประเทศ เป็นการสื่อถึงความร่วมมือที่จะพัฒนาและเติบโตร่วมกันและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยสามารถแบ่งกลุ่ม MOU ออกได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 Growing Together in SME Development Training and Inspiring เพื่อพัฒนาบุคคลากรและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ SMEs รวม 5 ฉบับ
1. ความตกลงระหว่างศูนย์อาเซียน (FACT) สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมา (UMFCCI) และ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งจะแลกเปลี่ยนข้อมูลทางเศรษฐกิจระหว่างกัน
2. ความตกลงระหว่าง ธนาคารกสิกรไทย และ สภาหอการค้าของเมียนมา(UMFCCI) ที่จะร่วมกันอบรมให้ความรู้และพัฒนา นักธุรกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
3. ความตกลงระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ UMFCCI ที่จะส่งเสริมให้ SMEs มีประสิทธิภาพมากขึ้น
4. ความตกลงระหว่าง ธนาคารกสิกรไทย และธนาคาร KBZ ที่จะสนับสนุนด้านการเงินสำหรับการค้าชายแดน
5. ความตกลงระหว่าง 3 บริษัท คือ บ.Mushroom บ. 360 solution และ บ.JBN global ที่จะสร้างความร่วมมือในสร้างแรงบัลดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ผ่านรายการ Young Billionaire
กลุ่มที่ 2 Growing Together in Industry Foundation Development รวม 4 ฉบับ
1. ความตกลงร่วมมือระหว่าง PAN group และ Apexworld ในการสร้างโรงงานรองเท้าแห่งแรกในเมียวดีที่ร่วมกันใช้ความได้เปรียบของทั้ง 2 ประเทศ โดยอาศัยสิทธิพิเศษ และ แรงงานในเมียนมา และอาศัยความรู้ด้านการผลิต การตลาดจากประเทศไทย
2. ความตกลงร่วมมือระหว่าง การนิคมแห่งประเทศไทย กับ Ayarawaddy Development Public ในการพัฒนาท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรมเมืองปะเต็ง ซึ่งเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางวัตถุดิบ
3. ความตกลงร่วมมือระหว่างบริษัทมิตรผล และ บริษัท Su Tech Engineering ที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลเต็มรูปแบบในเมียนมา
4. ความร่วมมือระหว่างบริษัท FT Energy กับ บริษัท Delco เพื่อให้คำปรึกษาในเรื่องพลังงานและ โครงสร้างพื้นฐานในเมียนมา
กลุ่มที่ 3 Growing Together In Human Capacity Development รวม 4 ฉบับ
1. ความตกลงระหว่างสภาอุตสาหกรรมฯ และ Myanmar Industries Association (MIA) ในการพัฒนาศักยภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมทุกระดับ
2. ความตกลงระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ และ สมาคมธนาคารเมียนมา MBA ในการพัฒนาศักยภาพคนด้านการธนาคาร
3. ความตกลงระหว่างมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ UMFCCI ในการพัฒนาศักยภาพของด้านการค้าการตลาด
4. ความตกลงระหว่าง โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท และ Global Assistant ในการยกระดับศักยภาพการรักษาพยาบาลของเมียนมา
กลุ่มที่ 4 Growing Together to Leap to Digital Economy เพื่อที่จะช่วยสร้างเศรษฐกิจดิจิตอลไปด้วยกัน รวม 3 ฉบับ
1.ความตกลงระหว่าง สถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมฯ (GS1 Thailand) กับ MIA ในการนำเทคโนโลยี Barcode ในการติดตามและค้นหาสินค้าไปใช้อย่างเต็มที่ในเมียนมา
2. ความตกลงระหว่างกลุ่ม IT สภาอุตสาหกรรมกับ UMFCCI ในเรื่องมาตรฐานการพัฒนา Software ซึ่งไทยได้พัฒนาจนได้รับมาตรฐาน ISO เพื่อทำให้การพัฒนาระบบ Software มีมาตรฐานสากล
3. ความตกลงระหว่าง T2P กับ City Mart Group ในการสร้าง E-wallet และ E-gift Platform
นอกจากนี้ยังมีการประชุมหารือใน 5 กลุ่มย่อยคือ 1) การค้าชายแดน และ Logistics 2) อุตสาหกรรม 3) พลังงาน 4) เกษตรกรรม การประมง และการเพิ่มมูลค่า และ 5) ท่องเที่ยว
โดย 5 กลุ่มย่อยนี้มีการกำหนดการประชุมครั้งต่อไปผ่านระบบ Video Conference ในเดือนมีนาคม 2560 และประชุมต่อเนื่องในทุกๆเดือนเพื่อที่จะก่อให้เกิดการร่วมมือกันอย่างยั่งยืนเป็นระบบที่ชัดเจนต่อไปในอนาคต การประชุมจะประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายเมียนมาคือ นักธุรกิจเมียนมา (UMFCCI) ฝ่ายไทย คือนักธุรกิจไทยตัวแทนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผ่านทางสภาธุรกิจไทย เมียนมา รวมทั้งนักธุรกิจไทยในเมียนมา(TBAM), ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมด้านอุตสาหกรรม และ พลังงาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพด้าน เกษตร ประมง และท่องเที่ยว สำหรับการค้าชายแดนทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพหลัก และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วม