ทีเอ็มบี ติวผู้ประกอบการ เตรียมรับ National e-Payment พลิกโฉมระบบชำระเงินไทย ในงาน “พลิกธุรกิจ ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 9, 2017 13:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--ทีเอ็มบี ทีเอ็มบี สนับสนุนนโยบายภาครัฐ "National e-Payment" ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติจัดสัมมนา "พลิกธุรกิจ ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล 2017" เสริมแกร่งความรู้อย่างเข้มข้นให้ลูกค้าธุรกิจ เพื่อการปรับระบบองค์กรให้รองรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และรู้ทันเทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัล นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าจากแผนยุทธศาสตร์ระบบการชำระงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติหรือ National e-Payment ทีเอ็มบีมองว่าทุกภาคส่วนควรตื่นตัวและให้ความสำคัญ เพราะโลกปัจจุบันกำลังเดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ดิจิทัลเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน ทุกระดับ ทุกภาคส่วน และในระบบเศรษฐกิจที่เป็นเส้นเลือดของประเทศ และทีเอ็มบีเป็นธนาคารแรกๆ ที่ให้ความสำคัญเรื่องการยกระดับบริการและโชลูชั่นทางการเงินด้วยช่องทางดิจิทัลมาโดยตลอด หัวใจสำคัญในการเดินหน้าสู่ Digital Banking ของทีเอ็มบีนั้น ไม่ใช่แค่การนำเทคโนโลยีมาใช้เพียงอย่างเดียว แต่มุ่งเน้นยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ให้ความสำคัญสูงสุดกับการตอบโจทย์และตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าอย่างตรงจุดเป็นอันดับแรก ก่อนส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการคุณภาพที่จะเปลี่ยนให้ชีวิตลูกค้าดีขึ้น ตลอดจนพร้อมที่จะเป็นพันธมิตรเคียงคู่ผู้ประกอบการในการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมั่นใจและปลอดภัย ทีเอ็มบี มองว่า National e-Payment นั้นจะช่วยลูกค้าธุรกิจได้มาก ตั้งแต่การลดขั้นตอน ลดต้นทุนการจัดการเงินสด และเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่องค์กรได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยสมาคมธนาคารไทยได้เปิดเผยข้อมูลว่าในปี 2558 ประเทศไทยมีปริมาณการชำระเงินทั้งหมดที่ 193 ล้านล้านบาท เป็นการชำระผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ร้อยละ 30 ซึ่งยังอยู่ในระยะของการปรับเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) ได้ให้มุมมองเปรียบเทียบการชำระเงินผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์กับประเทศอื่นๆ อาทิ ประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ร้อยละ 56 ประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ร้อยละ 47 และประเทศฟินแลนด์อยู่ที่ร้อยละ 31 คาดการณ์ว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะมีปริมาณการชำระเงินทั้งหมด 315 ล้านล้านบาท โดยเป็นการชำระผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ร้อยละ 53 เพิ่มขึ้นถึง 11% ซึ่งปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจแบบดิจิทัลในระยะนี้มี 3 ประการ คือ การสนับสนุนด้านนโยบายและกฎหมายต่างๆ ซึ่งประเทศไทยได้เริ่มต้นเมื่อปีที่ผ่านมา ระบบเทคโนโลยีที่รองรับการใช้งานธุรกิจที่ง่ายและสะดวก และการยอมรับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคและธุรกิจ ในโอกาสนี้ ทีเอ็มบี จึงได้จัดงานสัมมนา "พลิกธุรกิจ ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล 2017" ประเดิมตั้งแต่ช่วงต้นปี เพื่อให้ลูกค้ากลุ่มธุรกิจได้มีความรู้ครบทุกมิติ ทั้งภาพกว้างและเจาะลึก พร้อมวิเคราะห์โอกาสจาก National e-Payment รู้ทันเทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อก้าวสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless society) ฟังเสียงนโยบายจากภาครัฐและร่วมสร้างประโยชน์เพื่อเศรษฐกิจไทย ส่องพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เพิ่มอาวุธ พลิกธุรกิจด้วยเครื่องมือทางการเงิน นำโดย ดร. เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ที่จะช่วยเปิดมุมมองกระแสเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Trend) ภาพรวมของธนาคารระดับโลกในยุค Digital Banking ผลกระทบกับค่าเงินที่จะเกิดขึ้นทั่วโลกหลังการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล การเตรียมตัวของภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนที่จะก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ความเสี่ยงของการเปลี่ยนไปสู่สังคมไร้เงินสด ตลอดจนทิศทางเศรษฐกิจปี 2560 พร้อมเจาะลึกนโยบายด้าน National e-Payment จากภาครัฐ นายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมนโยบายของภาครัฐในการนำประเทศก้าวสู่ Digital Economy สาเหตุของการเปลี่ยนมาสู่ Digital e-Payment และประโยชน์ที่ภาคประชาชนจะได้รับจากการใช้ e-Payment นายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย บอกเล่าเกี่ยวกับความพร้อมของสถาบันการเงินกับการให้บริการ e-Payment ความมั่นใจในการใช้บริการ Digital e-Payment การใช้พร้อมเพย์ รวมถึงการปรับตัวของสถาบันการเงินและธนาคารไทย ปิดท้ายด้วย นายรัชกร ชยาภิรัต หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกรรมทางการเงินภายในประเทศ ทีเอ็มบี ตอกย้ำถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการทั้งในแง่ B2B และ B2C หลังการเปลี่ยนแปลงเพื่อใช้ระบบ e-Payment รวมถึงแนวโน้มผลิตภัณฑ์ของธนาคารที่จะออกมารองรับ National e-Payment

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ