กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์กล่าวว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกประเภทอาหารที่เป็นร้านค้าขนาดใหญ่ 3 รายใหญ่ในประเทศไทย น่าจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้นในปี 2560 เนื่องจากมีการมุ่งเน้นที่ความสามารถในการทำกำไร มากกว่าการแข่งขันเพื่อเพิ่มยอดขาย ผู้ประกอบการรายใหญ่ 2 ราย ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทภายใต้กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยที่มีธุรกิจหลากหลาย น่าจะมีการใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงกับกลุ่มบริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่ ทั้งในด้านเครือข่าย การจัดหาสินค้า และโลจิสติกส์ เพื่อพัฒนาการนำเสนอสินค้าแก่ลูกค้าเป้าหมายรวมถึงการจัดการต้นทุนให้ดีขึ้น
ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 ทั้ง บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (Makro, A(tha)/Stable) และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (Big C) ต่างก็มีอัตราส่วนกำไรที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับหลายไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการเปลี่ยนกลยุทธ์มามุ่งเน้นที่ความสามารถในการทำกำไรแทนการแข่งขันเพื่อเพิ่มยอดขาย ฟิทช์คาดว่าแนวโน้มดังกล่าวน่าจะคงอยู่ต่อเนื่องในปี 2560
การแข่งขันเพื่อเพิ่มยอดขายได้ผ่อนคลายลงตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 เมื่อ Big C ได้ยกเลิกการส่งเสริมการขายโดยการให้ส่วนลดพิเศษแก่ผู้ซื้อที่ซื้อสินค้าในปริมาณมาก และเปลี่ยนมามุ่งเน้นการจำหน่ายสินค้าที่สร้างอัตราส่วนกำไรที่ดีกว่า โดยเน้นที่กลุ่มลูกค้าผู้บริโภครายย่อย ฟิทช์มองว่าการเปลี่ยนกลยุทธ์ดังกล่าว เป็นผลดีต่อ Makro ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักเป็นผู้ซื้อที่ซื้อสินค้าในปริมาณมาก ได้แก่ ผู้ค้าปลีกรายย่อยแบบดั้งเดิม ผู้ประกอบการโรงแรม ภัตตาคารและธุรกิจจัดเลี้ยง (HORECA) ซึ่งแตกต่างจาก Big C และ Tesco Lotus ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักเป็นผู้บริโภครายย่อย ในด้านของ Makro ก็มีการปรับปรุงกลยุทธ์เนื่องจากยอดขายจากกลุ่มผู้ค้าปลีกรายย่อยแบบดั้งเดิมยังคงอ่อนแออย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3 ปี 2559 โดย Makro มีการเพิ่มการนำเสนอสินค้าและบริการแก่กลุ่มลูกค้า HORECA ซึ่งช่วยเพิ่มทั้งยอดขายและอัตราส่วนกำไร
นอกจากนี้ อำนาจซื้อของผู้บริโภคที่คาดว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวในปี 2560 น่าจะช่วยสนับสนุนธุรกิจค้าปลีกประเภทอาหารด้วย สำนักเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ได้มีการประมาณการอัตราการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนในปี 2560 ที่อัตราร้อยละ 3 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น และการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ ที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.6 นอกจากนี้ ผู้บริโภคจำนวนมากที่มีการซื้อรถยนต์ในปี 2554 ในช่วงที่มีโครงการลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อรถยนต์คันแรก น่าจะผ่อนชำระหนี้สินจากการซื้อรถยนต์หมดแล้วในปี 2559 และมีงบประมาณในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นในปีนี้
ฟิทช์คาดว่า Big C จะยังคงมุ่งเน้นการเพิ่มความสามารถในการทำกำไรในปี 2560 โดยใช้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นร่วมกันจากการซื้อกิจการของผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายใหม่ คือ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของประเทศไทย Big C คาดว่าจะมีการดำเนินการด้านโลจิสติกส์ร่วมกันที่ครบวงจรตั้งแต่การผลิตจนถึงเครือข่ายร้านค้าปลีก รวมถึงการใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตของ BJC ในการผลิตสินค้า House Brand รวมถึงการจำหน่ายสินค้าที่ผลิตโดย BJC ในเครือข่ายร้านค้าปลีกของ Big C ประโยชน์ร่วมกันเหล่านี้น่าจะเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการต้นทุน ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้น
ในอีกด้านหนึ่ง ประโยชน์ร่วมกันระหว่าง Makro กับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CP ALL, A(tha)/Stable) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศไทยทั้งสองบริษัท จะอยู่ในรูปของอำนาจในการต่อรองกับผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรวมถึงการจัดการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งประโยชน์ร่วมกันเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นจากการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนกำไรของทั้งสองบริษัท ในช่วงปี 2557-2558 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอ
ฟิทช์คาดว่า Makro จะมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ที่สูงขึ้นและมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งขึ้นในปี 2560 อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) และอัตราส่วนหนี้สินของ Makro ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อาจจะได้รับแรงกดดันจากแผนการขยายสาขาไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งได้เริ่มมีการลงทุนแล้ว อัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ที่ 1.7 เท่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 น่าจะยังสามารถรองรับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้ในระดับหนึ่ง โดยที่ยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบัน