(ต่อ1) ขอเชิญร่วมงานแถลงข่าว การจัดงาน "หยั่งราก ฝากใบ … ในสายน้ำของพ่อ" เฉลิมฉลองการก้าวเข้าสู่ปีที่ ๑๐๐ เมืองธัญญบูรี

ข่าวทั่วไป Tuesday March 6, 2001 14:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์
จังหวัดปทุมธานี อำเภอธัญบุรี ผสานกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในเมืองปทุมฯ ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองก้าวเข้าสู่ 100 ปี เมืองธัญญบูรี อย่างยิ่งใหญ่ ประเดิมด้วยงานแสดง แสง สี เสียง "หยั่งราก ฝากใบ … ในสายน้ำของพ่อ" 13 มีนาคม ศกนี้
ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายอำเภอธัญบุรี ร่วมด้วยหน่วยงานราชการอีกหลายหน่วยงาน ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองปีแห่งการก้าวเข้าสู่ 100 ปี เมืองธัญญบูรี อย่างยิ่งใหญ่ ตระการตา ซึ่งเปิดประเดิมด้วยงานแสดง แสง สี เสียง "หยั่งราก ฝากใบ … ในสายน้ำของพ่อ" เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงสถาปนาเมืองธัญญบูรีขึ้น โดยจะจัดให้มีในวันที่ 13 มีนาคม ศกนี้
นายภุชงค์ รุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนถึงที่มาของแนวคิดในการจัดงาน "หยั่งราก ฝากใบ….ในสายน้ำของพ่อ" ว่า มีที่มาจากการที่พสกนิกรชาวธัญญบูรี ตลอดจนชาวปทุมธานีทุกคน ล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ที่ทรงมีพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลยิ่ง ในการที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ขุดคลองรังสิตขึ้น (ในบริเวณที่แต่เดิมเรียกว่า ทุ่งหลวง) ซึ่งแสดงถึงความเสียสละของพระองค์ท่าน ตามที่มีบันทึกพระราชดำรัสของพระองค์ท่านที่ได้ทรงรับสั่งกับ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ แพทย์ในพระองค์และอัครราชทูตพิเศษไว้ว่า "….ในพระราชอาณาจักรสยามนี้ คลองเป็นสิ่งสำคัญ ในปีหนึ่งควรให้ได้มีคลองขึ้นสักสายหนึ่ง จะทำให้บ้านเมืองเจริญ ถึงจะออกพระราชทรัพย์ปีละพันชั่ง หรือสองพันชั่งก็ไม่ทรงเสียดาย…" และเพื่อสนองพระราชดำริ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ฯ จึงได้ทรงปรึกษากับสถาปนิกชาวฝรั่งเศส รวบรวมพวกพ้องที่มีทุนทรัพย์ ก่อตั้งบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม วางแผนขุดคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณบ้านถั่ว ใต้เกาะใหญ่ ปทุมธานี ไปออกแม่น้ำนครนายก บริเวณเมืองนครนายก เกิดเป็น "คลองรังสิตประยูรศักดิ์" ขึ้น
อันเป็นต้นกำเนิดของเมืองธัญญบูรี ซึ่งพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินกระทำพิธีเปิดศาลากลาง หรือศาลาว่าการเมือง ด้วยพระองค์เอง ที่คลองรังสิตฝั่งเหนือ ตรงคลองซอยที่ 6 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2445 พร้อมกับเสด็จกระทำพิธีฝังลูกนิมิตที่วัดมูลจินดารามด้วย
จากพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของพระองค์ในการโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองรังสิต นี่เองที่นำไปสู่ การพัฒนาอย่างยิ่งใหญ่ โดยส่งผลให้ทุ่งหลวงรังสิต ได้รับการพัฒนา จนกระทั่งเปลี่ยนสภาพจากป่ารก ชัฎ กลายเป็นชุมชนเมืองซึ่งมีผู้คนเข้าอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก จนเวลาผ่านมานับได้ 1 ศตวรรษ ปัจจุบันกลายมาเป็นศูนย์กลางทางพาณิชยกรรมที่สำคัญของปริมณฑลทางเหนือของกรุงเทพฯ และยังมีแนวโน้มที่จะพัฒนาต่อไปอีก โดยเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ซึ่งเรียกได้ว่า ในปัจจุบัน พื้นที่คลองรังสิต เมืองธัญบุรี ยังคงเป็นพื้นที่แห่งวิสัยทัศน์ที่คงอยู่ เติบโต รุ่งเรือง และพัฒนาไม่หยุดยั้ง
และเพื่อเป็นการแสดงถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ทางจังหวัดปทุมธานี ร่วมกับอำเภอธัญบุรี ตลอดจนหน่วยงานราชการทุกหน่วยงานภายในจังหวัด ได้ร่วมกันจัดงานฉลองเข้าสู่ 100 ปี เมืองธัญญบูรี ขึ้นในปี 2544-2545 นี้ ภายใต้ แนวคิด "หยั่งราก ฝากใบ…ในสายน้ำของพ่อ" โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1. เพื่อเฉลิมฉลองเข้าสู่ 100 ปีเมืองธัญญบูรี เมืองซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากคลองรังสิตที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้น 2. เพื่อแสดงถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงมีพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล และทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด และ 3. เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เมืองธัญญบูรี ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ว่าเป็นพื้นที่ซึ่งเจริญรุ่งเรืองขึ้นด้วยพระวิสัยทัศน์ของพระมหากษัตริย์ไทย และยังมีการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ด้าน อันเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่น่าจับตามอง
ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้กล่าวเสริมถึง รายละเอียดของการจัดงาน ฉลองเข้าสู่ 100 ปี เมืองธัญญบูรี ขึ้นในปี 2544-2545 นี้ ภายใต้ แนวคิด "หยั่งราก ฝากใบ…ในสายน้ำของพ่อ" ว่า จะเป็นการจัดงานเฉลิมฉลองตลอดทั้งปี ระหว่างวันที่ 13 มีนาคม 2544 - 13 มีนาคม 2545 โดยประเดิมงานแรกในวันอังคารที่ 13 มีนาคม ศกนี้ โดยเป็นรูปแบบงานรื่นเริง อบอุ่น เป็นกันเอง ในบรรยากาศแบบไทย ๆ มีการออกร้านของดีเมืองธัญญบูรี และปทุมธานี มีการแสดงแสง สี เสียง (Light & Sound) อย่างยิ่งใหญ่ตระการตา โดยผสานเทคโนโลยีมัลติมีเดีย ทั้งระบบ แสง สี เสียง อย่างเต็มรูปแบบ โดยเนื้อหาจะเป็นการกล่าวสดุดีถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ตั้งแต่ครั้งที่โปรดเกล้าฯ ให้มีการขุดคลองรังสิต จวบจนกระทั่ง ขุดคลองแล้วเสร็จ ถ่ายทอดให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์และความเจริญของทุ่งรังสิต และเมืองธัญญบูรี อันเป็นผลจากพระวิสัยทัศน์ของพ่อหลวง ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงการสืบสานเจตนารมย์ และการตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ของพระมหากษัตริย์ไทย ส่วนกิจกรรมในเดือนมิถุนายน จะมีงาน "ประเพณีข้าว" ร่องรอยจากอดีต..สู่ปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อเกี่ยวกับข้าว เพื่อความเป็นสิริมงคล แสดงถึงความรุ่งเรือง และวิสัยทัศน์ของธุรกิจการค้าข้าวของชาวธัญญบูรี ในเดือนสิงหาคม จะจัดให้มีการประกวดเทคโนโลยีในการดูแลคลอง และตลิ่งรังสิต โดยจะให้นักศึกษาในพื้นของจังหวัดปทุมธานี ร่วมกันคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ แผนงาน หรือวิธีการด้านวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาคลองรังสิต เดือนตุลาคม ในช่วงเทศกาลลอยกระทง จัดงานประเพณีแข่งเรือ และลอยกระทงกลางน้ำ เพื่อเป็นการระลึกถึงบุญคุณและการขอขมาต่อสายน้ำในหลากหลายรูปแบบ เดือนธันวาคม จัดงาน "จากราก…สู่ใบ ร่มไม้ใหญ่แห่งราชวงศ์จักรี" โดยจัดเป็นรูปแบบงานบุญมหากุศล มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย โดยถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ และเพื่อความเป็นสิริมงคลของชาวเมืองธัญบุรี และชาวไทยทุกคน
นอกจากนี้ ภายในท้องที่จังหวัดปทุมธานี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในย่านธัญบุรี และคลองรังสิตยังได้มีการพัฒนาด้านกายภาพ ด้วยการพัฒนาถนนเส้นรังสิต - นครนายก (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305) ให้เป็นถนนสายวัฒนธรรม โดยรณรงค์ให้เป็นทางหลวงสายปลอดภัย มีความร่มรื่นสวยงาม และยังมีการปรับปรุงลำคลองรังสิตให้เป็น คลองสวยน้ำใสอีกด้วย และเชื่อว่า ถนนสายรังสิต - นครนายก แห่งนี้จะเป็นถนนสายที่สวยที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากเป็นถนนสายเดียวที่มีคลองขนานไปตลอดเป็นระยะทาง 36 กิโลเมตร ซึ่งจะได้พัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ และของดีที่น่าสนใจของจังหวัดอีกมากมาย อาทิ ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดชินวราราม, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์, ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี, เมืองผลไม้ และก๋วยเตี๋ยวเรือรสเลิศ เป็นต้น จึงอยากจะเชิญชวนทุกท่านเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดปทุมธานี ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวในที่สุด
รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
จิดาภา ประมวลทรัพย์, เบญจมาภรณ์ บำราพรักษ์, อังคณา ปาละสุทธิกุล
บริษัท สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด
โทร. 693 7835-8, 01-817 7153, 01-613-8426, 01-613 1496 (ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ