กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--กรมควบคุมโรคติดต่อ
นายแพทย์สมทรง รักษ์เผ่า อธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ รายงานถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกถึงปี 2543 ( 1 มกราคม — 31 ธันวาคม 2543 ) ว่า ตลอดทั้งปีมีผู้ป่วย 17,582 ราย เสียชีวิต 31 ราย ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2542 มีผู้ป่วย 24,826 ราย เสียชีวิต 56 ราย นับได้ว่าข้อมูลดังกล่าวมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนกันยายน ถึงเดือนธันวาคมของปี 2543 ซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้งมีผู้ป่วยสูงกว่าปี 2542 แนวโน้มการมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในหน้าแล้งนี้ เป็นสัญญาณเตือนให้ทราบว่าปีถัดไปคือ ปี 2544 จะมีการระบาดของโรคสูงขึ้น ประกอบกับเมื่อปี 2540 — 2541 มีการระบาดใหญ่ของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ทำให้ประชาชนเกิดภูมิคุ้มกันแบบชั่วคราว ซึ่งในปี 2544 นี้ ภูมิคุ้มกันแบบชั่วคราวนี้จะหมดลง จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนว่าปี 2544 จะเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกสูงกว่าปี 2543 ดังนั้น การดำเนินงานควบคุมโรคไข้เลือดออกตามมาตรการเชิงรุก จึงจำเป็นต้องควบคุมโรคตั้งแต่หน้าแล้ง ซึ่งมีพาหะนำโรคคือยุงลาย การควบคุมในหน้าแล้งนี้ เป็นการกำจัดลูกน้ำตามบ้านเรือนและสถานที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทำให้ยุงพาหะลดน้อยลง และการควบคุมลูกน้ำในหน้าแล้งจะง่ายกว่าการควบคุมลูกน้ำในหน้าฝน เพราะแหล่งน้ำในหน้าแล้งมีเฉพาะในบ้านตามบริเวณหน้ามักจะไม่มีน้ำขัง ผิดกับหน้าฝนซึ่งมีน้ำขังบริเวณหน้าบ้าน อย่างไรก็ตามในหน้าแล้งนี้ควรช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงตามบริเวณบ้านไม่ว่าจะเป็นกระถางแตก กระป๋องเปล่า กะลา ยางรถยนต์เก่า โดยวิธีกลบฝัง ทำลาย หรือถ้าเป็นที่ขังน้ำถ้าเป็นของต้องใช้อีกควรเก็บให้เรียบร้อย เนื่องจากในฤดูแล้งไม่มีน้ำขังหรือมีลูกน้ำอยู่ในภาชนะดังกล่าวก็จริง แต่ไข่ยุงซึ่งเกาะค้างอยู่ตามภาชนะดังกล่าวมีความทนทานต่อความแห้งแล้ง มีชีวิตยืนยาวนานเป็นปี และเมื่อมีน้ำมาหล่อเลี้ยงในฤดูฝน ก็พร้อมจะเป็นลูกน้ำได้อีก อธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า กระทรวงสาธารณสุขจะจัดการรณรงค์ป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ในหน้าแล้งช่วงวันที่ 19 — 23 ของเดือนกุมภาพันธ์นี้ และขอความร่วมมือจากประชาชนช่วยกันกำจัดลูกน้ำในบ้านของตนเองและชุมชน ทุก 7 วัน ให้ลูกน้ำที่จะเกิดเป็นยุงในฤดูฝนเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้--จบ--
-สส-