กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--สสวท.
สสวท. เผยบทบาทการปฏิรูปการศึกษาวิทย์-คณิต เร่งสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วม วิจัยพัฒนามาตรฐานการศึกษาแบบองค์รวม และเชื่อมโยงภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับการเรียนการสอนวิทย์-คณิต
ดร. พิศาล สร้อยธุหร่ำ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แถลงว่า เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมในกระแสโลกาภิวัฒน์ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ รัฐธรรมนูญใหม่ พ.ศ. 2540 และ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องปฏิรูปการศึกษา สสวท. จึงเป็นหน่วยงานหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในการปฏิรูปการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี และสร้างรากฐานของสังคมไทย ให้มีความแข็งแกร่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
บทบาทของ สสวท. กับการปฏิรูปการศึกษา จะต้องวิจัยและพัฒนาเชื่อมโยงระหว่าง ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในหลักสูตรแกนกลางและหลักสูตร ท้องถิ่น ในการวิจัยและพัฒนาหลักสูตรต้องคำนึงถึงการกระจายอำนาจในระดับโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา ตามสภาพท้องถิ่น โดยจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันราชภัฎช่วยแนะแนวทางให้แก่โรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา
นอกจากนั้น สสวท. ยังมีบทบาทหลักในการประเมินผลการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีให้ได้มาตรฐาน เป็นแกนในการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายครูเพื่อให้เกิดความหลากหลายและความแข็งแกร่งในการจัดการศึกษา ตรวจสอบและติดตามความเคลื่อนไหวด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสากล รวมทั้งเป็นแกนหลักในการศึกษานอกโรงเรียนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี และเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ประชาชน
ทั้งนี้ สสวท. จะร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในกระทรวงการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมในรูปแบบของเครือข่าย ทิศทางที่ สสวท. จะดำเนินการนับจากนี้ไปในช่วงปี 2545-2549 ที่ได้ถูกบรรจุเอาไว้ในแผนแม่บท คือ มุ่งเน้นปฏิรูปการเรียนรู้ผ่านกระบวนการพัฒนาหลักสูตร สื่อการเรียนการสอน และการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ส่งเสริม การนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในการเรียนการสอน ประเมินมาตรฐานการจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี วิจัยทางการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี จัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ และส่งเสริม วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์สำหรับประชาชน
“การมุ่งเน้นพัฒนาสังคมด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สสวท. จะต้องไม่ละเลยรากเหง้าของภูมิปัญญาไทย และควรนำองค์ความรู้เดิมที่ มีอยู่มาแตกยอดขยายผลเพิ่มมากขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นว่าประเทศไทยจะต้องยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง โดยพึ่งพาเทคโนโลยีและภูมิปัญญาจากต่างประเทศให้น้อยที่สุด”--จบ--
-อน-