การแถลงข่าวเรื่อง การปฏิบัติการผ่าตัดผ่านกล้องเกี่ยวกับโรคในข้อเข่า โดย สาขาเวชศาสตร์การกีฬา ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย

ข่าวกีฬา Wednesday September 6, 2000 11:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--คอร์ปอเรท พับลิค รีเลชั่นคอนซัลแตนท์
การแถลงข่าวเรื่อง การปฏิบัติการผ่าตัดผ่านกล้องเกี่ยวกับโรคในข้อเข่า โดย สาขาเวชศาสตร์การกีฬา ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย Contemporary Interactive Knee Arthroscopy จัดโดย สาขาเวชศาสตร์การกีฬา ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศูนย์ผ่าตัด คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายชื่อผู้ร่วมแถลงข่าว
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กองเกตุใหญ่ ประธานราชวิทยาลัย ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์
รศ.นพ.วัฒนาชัย โรจน์วณิชย์ ประธานสาขาวิชาเวชศาสตร์การกีฬา ราชวิทยาลัยศัลแพทย์ออร์โธปิดิกส์
ผศ.นพ.สมศักดิ์ คุปต์นิสัยรัส โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พตท.นพ.ธนา ธุระเจน อนุกรรมการ สาขาเวชศาสตร์การกีฬา ราชวิทยาลัยศัลแพทย์ออร์โธปิดิกส์
การรักษาโรคกระดูกและข้อผ่านกล้อง
การรักษาผ่านกล้อง (Arthroscopic Surgery) เป็นการให้การวินิจฉัยและรักษาโรคผ่านกล้องโทรทัศน์ขนาดเล็กภายในข้อการรักษาผ่านกล้องได้เริ่มครั้งแรกตั้งแต่ 1970 การผ่าตัดชนิดนี้เป็นที่ไว้วางใจและนิยมมากในอเมริกา การวิวัฒนาการการรักษาผ่านกล้อง เริ่มในประเทศญี่ปุ่น และมีบทบาทในการรักษาผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เนื่องจากในการผ่าตัดในอดีต เราผ่าตัดแบบแผลเปิด โดยผ่าชั้นผิวหนัง กล้ามเนื้อ เยื่อหุ้มข้อ และถึงข้อซึ่งข้อที่พบบ่อยๆ ได้แก่ ข้อเข่า ข้อไหล่ ถึงแม้ว่าการรักษาแบบนี้ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ แต่เราพบว่าต้องมีแผลขนาดใหญ่ มีอาการเจ็บปวดหลังการผ่าตัดมาก ใช้เวลาในโรงพยาบาลนาน ไม่เพียงแต่นอนพักรักษาตัวเท่านั้นแต่ยังต้องใช้เวลาในการทำกายภาพบำบัด เพื่อให้ข้อต่อนั้นๆ กลับมาได้เหมือนเดิม ซึ่งเมื่อคำนวนแล้ว มีการสิ้นเปลืองทั้งด้านค่าใช้จ่ายและการเสียเวลาในการทำงานเป็นระยะเวลานาน การผ่าตัดผ่านกล้องมีผลดีอย่างเห็นได้ชัด ดังต่อไปนี้คือมีแผลเป็นขนาดเล็ก การอยู่โรงพยาบาลในระยะสั้น หายอย่างรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องทำกายภาพเป็นระยะเวลานานๆ สามารถกลับไปทำงานในสภาพเดิมได้อย่างรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องมีคนดูแลมาก ซึ่งการรักษาแบบนี้ได้รับความนิยมในหมู่นักกีฬา เพราะจำเป็นต้องหายและกลับไปเล่นกีฬาได้อย่างรวดเร็ว และเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายทางอ้อม
คำว่าการรักษาผ่านกล้องนั้นมาจากความคิดที่ว่าเราสามารถมองเข้าไปในข้อ หรือช่องว่างของกระดูกที่ต่อกัน ในการวินิจฉัยโดยการดูผ่านกล้องนั้นจะมีแผลที่เล็กประมาณ 0.5 ซม. แล้วใส่กล้องโทรทัศน์ขนาดเล็กซึ่งประกอบด้วย เลนส์ (Lens) และสายไฟเบอร์ออฟติก (Fiberoptic-system) เพื่อให้เห็นพยาธิสภาพในข้อหรือกระดูกเหล่านั้น อุปกรณ์ที่ใช้ทำการผ่าตัดประมาณ 0.5-0.75 ซม. การทำงานร่วมกันของอุปกรณ์ดังกล่าวทำให้ศัลแพทย์สามารถมองเห็นพยาธิสภาพในข้ออย่างชัดเจนบนจอภาพ (Television Screen) ใหญ่เพียงพอที่จะทำให้เห็นข้อได้โดยตรง การวินิจฉัยการบดเจ็บอย่างชัดเจนถูกต้องเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยซึ่งมีผลต่อการรักษาอย่างมีผลที่ดีไม่ผิดพลาด อาทิ เช่น ข้อเข่า รวมทั้งการผ่าตัดรักษาผ่านกล้องด้วย
ความสำคัญของการรักษาผ่านกล้อง
ถึงแม้ว่าการวินิจฉัยโรคจะต้องเริ่มด้วยประวัติการป่วย การตรวจร่างกาย การดูผลทางเอ็กซเรย์ การวินิจฉัยผ่านกล้องยังมีความจำเป็น เนื่องจากทำให้เห็นได้อย่างชัดเจน แม่นยำและสามารถพินิจได้ในสิ่งที่เอ็กซเรย์มองไม่เห็น ได้แก่ เอ็นและกระดูกอ่อน หรือบางครั้งได้ดีกว่าเปิดการผ่าตัดแผลขนาดใหญ่ โดยไม่จำเป็นและสามารถที่จะมองเห็นสิ่งเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากข้อประกอบด้วย กระดูกอ่อนที่มีลักษณะเป็นแผ่นและมีลักษณะเป็นเส้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ข้อมีความมั่นคง และสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของข้อให้เป็นไปได้อย่างดี ถ้าสิ่งเหล่านี้เสียไป อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ อาการปวดในข้อ ข้อติด ไม่สามารถวิ่งหรือขยับได้ดี ข้อบวม ดังนั้นสิ่งที่จะเห็นและรักษาผ่านกล้องได้แก่
- การฉีกขาดหรือผิดปกติของกระดูกอ่อน
- การขาดของเอ็นในข้อ เช่น ACL ,PCL
- ชิ้นกระดูกที่หลุดลอยในเข่า
- ภาวะการอักเสบหรือเสื่อมในข้อ เช่น ข้อเข่าเสื่อม ข้อที่สามารถทำการรักษาผ่านกล้องได้ในปัจจุบันมี 6 ข้อคือ ข้อเข่า (ซึ่งที่เป็นข้อที่ทำมากที่สุด) รองลงมาได้แก่ ข้อไหล่ ข้อศอก ข้อสะโพก และข้อมือ
ในอนาคตการค้นคว้าทางการแพทย์ จะมีวิวัฒนาการไปโดยการใช้เลนส์ และไฟเบอร์ออฟติกเพื่อรักษาควมผิดปกติในข้ออื่นๆมากขึ้นและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง
การรักษาผ่านกล้องของแพทย์
ก่อนจะทำการรักษาผ่านกล้อง ผู้ป่วยจะได้รับยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่ ทำให้คนไข้จะรู้สึกสบายขณะที่ได้รับการรักษาผ่านกล้อง ถ้าคนไข้ไม่ต้องการจะหลับก็สามารถรักษาผ่านกล้อง สามารถดูการรักษาของแพทย์ในจอโทรทัศน์ได้ (Television Screen) ผิวหนังบริเวณที่จะทำการผ่าตัดจะต้องทำให้สะอาดและปลอดเชื้อหลังจากนั้นจะมีแผลขนาด 0.5 ซม. ประมาณ 2 แผล ในบริเวณข้อที่ทำการรักษาแผลแรกเพื่อใส่กล้องเข้าไปทำการวินิจฉัย แผลที่สองใส่เครื่องมือหรือทำการผ่าตัด โดยเครื่องมือขนาดเล็กที่ออกแบบเฉพาะต่อโรคนั้น ซึ่งแพทย์และคนไข้จะสามารถเห็นรายละเอียดของโรคนั้นจากจอโทรทัศน์ หลังจากการผ่าตัดเสร็จจะเย็บแผลและปิดแผลด้วยเทคนิคไร้เชื้อ หลังจากปวด 1-2 วัน ก็เริ่มเดินได้ ทำการกายภาพบำบัดได้ กลับบ้านอย่างรวดเร็วเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและทำงานได้อย่างรวดเร็วด้วย
วิวัฒนาการของการผ่าตัดในข้อโดยใช้กล้อง
ความเจริญก้าวหน้าทางออร์โธปิดิกส์ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระยะนี้ เนื่องจากมีการพัฒนาเครื่องมือต่างๆอย่างรวดเร็วควบคู่กันไป ซึ่งการผ่าตัดในข้อโดยกล้องช่วยนั้นเป็นแขนงหนึ่งของความก้าวหน้านั้นในปัจจุบัน จึงจะเห็นได้ว่ามีเทคนิคการผ่าตัดใหม่ๆ โดยใช้กล้องเข้ามาแทนที่ การผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่ต้องผ่าตัดเปิดแผลขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดเข้าไปในข้อ ซึ่งมีผลต่อการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อ ขณะผ่าตัดทำให้ผิวข้อซึ่งเป็นกระดูกอ่อนต้องสัมผัสกับอากาศภายนอก ซึ่งจะทำความเสียหายต่อเซลล์กระดูกอ่อนและทำให้มีโอกาสเปิดข้อยึดติดได้มากกว่าการผ่าตัดโดยใช้กล้อง จึงน่าจะช่วยป้องกันปัญหาต่างๆเหล่านี้ได้ การรักษาผ่านกล้อง โดยใช้กล้องวีดีโอทัศน์ และเครื่องมือทำการรักษาผ่านทางช่องขนาด 0.5-1 ซม. เท่านั้น เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วจะมีแผลขนาดเล็ก จำนวน 2-3 แผลเท่านั้น การผ่าตัดชนิดใหม่ดีอย่างไร จากการวิจัยพบว่า เสียเลือดน้อยมีความเจ็บปวดน้อย ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาผ่านกล้องสามารถกลับบ้านได้โดยเฉลี่ย 1- 2 วันหลังผ่าตัด อาการเจ็บป่วยน้อย ทั้งยังทำให้การทำงานของไหล่กลับคืนมาอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้การผ่าตัดข้อโดยใช้กล้องได้รับความนิยมแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม การทำผ่าตัดที่ได้ผลดีนั้นจำเป็นต้องมีทักษะ ซึ่งต้องฝึกฝนให้เกิดขึ้นมาอย่างช้าๆ โดยใช้ประสบการณ์จากการปฏิบัติ และการฝึกฝนดังกล่าวก็น่าจะปฏิบัติกันในชิ้นส่วนที่ไม่มีชีวิตจนชำนาญแล้วจึงนำทักษะนั้นไปใช้ผ่าตัดผู้ป่วยจริงต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝึกฝนทักษะ การผ่าตัดผ่านกล้องนั้นจัดทำขึ้นได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากการจัดหาอุปกรณ์ที่จะใช้นั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทางคณะกรรมการจัดฝึกอบรม"โครงการผึกอบรมเชิงปฏิบัติการผ่าตัดผ่านกล้องเกี่ยวกับโรคในข้อเข่า" ซึ่งประกอบด้วย ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาขาเวทศาสตร์การกีฬา ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย, ศูนย์ฝึกผ่าตัด คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แก่ศัลแพทย์ออร์โธปิดิกส์ แพทย์ประจำบ้านศัลแพทย์และแพทย์ผู้สนใจ จะให้ประสบการณ์การเรียนรู้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้เป็นอย่างดี ซึ่งอาจต้องขยายต่อไปเป็นการจัดอบรมในระดับนานาชาติต่อไปในอนาคต
บริษัทคอร์ปอเรท พับลิค รีเลชั่นคอนซัลแตนท์ จำกัด
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ พุทธิพร เอมสมบูรณ์ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์โครงการ
โทร 628-6120 ,282-8773-4 โทรสาร 628-7231-2--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ