กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง
ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา โครงการ "ดิจิทัลไทยแลนด์" (Digital Thailand) ของรัฐบาลไทยได้สร้างโอกาสมากมายสำหรับองค์กรธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ การปรับเปลี่ยนการดำเนินงานและการบริการให้เป็นรูปแบบดิจิทัลมากขึ้นเพื่อให้ประเทศไทยสามารถปลดล็อคเส้นทางการพัฒนาสู่ "ไทยแลนด์ 4.0"และสร้างระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง"ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)" จะต้องดำเนินการพัฒนาปรับปรุงองค์กรโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งนี้เพราะเอสเอ็มอีถือเป็นกระดูกสันหลังของระบบเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันมีธุรกิจเอสเอ็มอีประมาณ 2.7 ล้านรายในประเทศไทย คิดเป็น 98.5% ขององค์กรทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วน 37%ของจีดีพี และ 80% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ
รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจเอสเอ็มอี และได้ทุ่มเททรัพยากร พร้อมทั้งริเริ่มและดำเนินการโครงการต่างๆ เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีปรับใช้เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำมากขึ้น นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้เอสเอ็มอีใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโต รัฐบาลคาดว่าจะมีร้านค้าออนไลน์ระดับชุมชนอย่างน้อย 10,000 แห่ง และมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบราว 15,000รายภายในปี 2569
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีมาตรการมากมายเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัล แต่ยังคงมีอุปสรรคที่ขัดขวางเอสเอ็มอีในการปรับใช้เทคโนโลยีรุ่นใหม่ล่าสุด ปัญหาท้าทายที่สำคัญได้แก่ การขาดความเชี่ยวชาญและทักษะด้านเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีปรับใช้โซลูชั่นดิจิทัล และแอพพลิเคชั่นรุ่นใหม่ล่าสุด ความยากลำบากในการจัดการสภาพแวดล้อมไอทีที่ซับซ้อนมากขึ้น บวกกับการมีอุปกรณ์เชื่อมต่อที่หลากหลายมากขึ้น และการขาดแคลนงบประมาณในการพัฒนาและอัพเกรดโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ ในการพัฒนาสู่ดิจิทัลและโยกย้ายทรัพยากรสู่ระบบออนไลน์ ธุรกิจเอสเอ็มอีจำเป็นต้องใช้โซลูชั่นการรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่ง เพื่อปกป้องธุรกิจให้ปลอดภัยจากการโจมตีทางไซเบอร์ กล่าวโดยสรุปก็คือ ธุรกิจเอสเอ็มอีจำเป็นต้องใช้ "โซลูชั่นอัจฉริยะที่เรียบง่ายและปลอดภัย มีขนาดและระดับราคาที่เหมาะสม" กับความต้องการของแต่ละองค์กร
ก่อนที่ธุรกิจเอสเอ็มอีจะพัฒนาหรือเปลี่ยนตัวเองสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) อุปสรรคแรกที่บริษัทจะต้องเอาชนะก็คือ ต้นทุนในการเป็นเจ้าของ (Cost of Ownership) ซึ่งหมายรวมถึงการจัดเตรียมทรัพยากรไอที การติดตั้ง การอัพเกรด และการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ฯลฯ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เกิดประโยชน์สูงสุด ธุรกิจเอสเอ็มอีจะต้องอาศัยความช่วยเหลือจากทีมงานฝ่ายไอที หรือพันธมิตรที่นอกจากจะมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับความต้องการด้านธุรกิจของบริษัทแล้ว ยังต้องนำเสนอโซลูชั่นที่หลากหลาย สามารถปรับแต่งขนาด และตัวเลือกเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงได้อย่างลงตัว วิธีนี้ช่วยให้เอสเอ็มอีไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองงบประมาณสำหรับการจัดซื้ออุปกรณ์ที่ไม่จำเป็น และขณะเดียวกัน เอสเอ็มอียังมั่นใจได้ด้วยว่าโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีอยู่จะรองรับการใช้งานในอนาคต และสามารถปรับเพิ่มขนาดเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นขณะที่ธุรกิจยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ปัญหาท้าทายข้อที่สองสำหรับเอสเอ็มอีก็คือ การขาดความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและบุคลากรที่มีความชำนาญเรื่องระบบดิจิทัล ด้วยเหตุนี้ เอสเอ็มอีจึงต้องการโซลูชั่นไอซีทีที่ก้าวล้ำ สามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ติดตั้ง และจัดการได้อย่างง่ายดาย เพื่อเสริมสร้างธุรกิจและปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เมื่อขจัดความสับสนและความยุ่งยากซับซ้อนออกไป เอสเอ็มอีก็จะสามารถทุ่มเทเวลาและทรัพยากรให้กับแง่มุมสำคัญๆ ของธุรกิจ เช่น การพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่แปลกใหม่ เป็นต้น ทั้งนี้ ไอดีซี (IDC) เปิดเผยว่า หนึ่งในสามของธุรกิจเอสเอ็มอีในไทยใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการจัดการงานทั่วไปในแต่ละวัน แทนที่จะนำเวลาไปใช้ในการวางแผนพัฒนาธุรกิจ ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด และระบบงานอัตโนมัติจะช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถประหยัดเวลาในการจัดการระบบงาน เพิ่มความคล่องตัวให้กับธุรกิจ ยกระดับขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลง่ายมากขึ้น และก้าวล้ำนำหน้าคู่แข่งในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง
ในบรรดาองค์กรต่างๆ เอสเอ็มอีมีแนวโน้มว่าจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาสู่ดิจิทัล เพราะเอสเอ็มอีสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม พัฒนาการให้บริการ และสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ๆได้อย่างรวดเร็วเพื่อแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ การพัฒนาสู่ดิจิทัลจะช่วยให้เอสเอ็มอีดำเนินงานได้อย่างรวดเร็วและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานมากขึ้น ทั้งยังตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างทันท่วงที ยิ่งไปกว่านั้น เอสเอ็มอีจะสามารถเชื่อมต่อกับพนักงานได้ทุกที่ทุกเวลา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และจัดหาเครื่องมือที่จะช่วยปรับปรุงการให้บริการ และเพิ่มความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า
ตัวอย่างเช่น โซลูชั่นสำหรับการทำงานร่วมกัน (Collaboration Solution) จะช่วยเพิ่มความสะดวก และลดค่าใช้จ่ายในการติดต่อสื่อสารสำหรับทุกคนในบริษัท สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมาก"พนักงาน" คือทรัพยากรที่มีศักยภาพมากที่สุด และหากองค์กรเปิดโอกาสให้พนักงานได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และประสบการณ์ร่วมกันได้อย่างง่ายดาย ก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจได้อย่างทวีคูณ การเพิ่มความสะดวกให้แก่พนักงานในการติดต่อสื่อสารกับพนักงานด้วยกัน หรือลูกค้า และการเข้าถึงทรัพยากรได้จากทุกที่ บนทุกอุปกรณ์ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและกระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังนับเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับการขยายธุรกิจไปสู่พื้นที่ต่างๆ อย่างกว้างขวาง
คุณประโยชน์ที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างก็คือ เอสเอ็มอีจะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจำนวนมาก ปัจจุบันมีผู้ใช้โมบายล์อินเทอร์เน็ตกว่า 50 ล้านคนในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ เครื่องมือและแพลตฟอร์มโมบายล์ดิจิทัลจะช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงฐานลูกค้าจำนวนมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ลูกค้าจำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้นลูกค้าเหล่านี้จึงคาดหวังว่าจะได้รับประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อระหว่างร้านค้าในรูปแบบปกติ และช่องทางดิจิทัล นอกจากนั้น ความคาดหวังของลูกค้าก็มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการติดตั้งโซลูชั่นรุ่นใหม่ล่าสุดที่ปรับขนาดได้อย่างยืดหยุ่นเพื่อรองรับธุรกิจ เอสเอ็มอีจะสามารถจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่รองรับอนาคตได้อย่างเหมาะสม เพื่อรับมือกับความต้องการทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป ควบคู่กับการนำเสนอประสบการณ์ลูกค้าแบบเฉพาะบุคคลที่สอดคล้องกับความต้องการ โดยเสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล
ประการสุดท้าย เอสเอ็มอีจะต้องตระหนักว่าปัจจัยสำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลก็คือความเชื่อมั่น โดยหากปราศจากความเชื่อมั่น ธุรกิจก็ไม่อาจอยู่รอดได้ ทุกวันนี้ปัญหาด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เปิดเผยว่าการโจมตีทางไซเบอร์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 43% จากปี 2557 (3,000 เคส)ถึงปี 2558 (4,300 กรณี) ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เอสเอ็มอีต้องรวมระบบรักษาความปลอดภัยเข้าไว้ในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อปกป้องธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยครอบคลุมสภาพแวดล้อมไอทีทั้งหมด นอกจากนี้ โซลูชั่นการรักษาความปลอดภัยที่ดีจะต้องบริหารจัดการได้อย่างง่ายดายและทำงานแบบอัตโนมัติ เพื่อให้สามารถรับมือกับการโจมตีทางไซเบอร์ได้อย่างชาญฉลาดและทันท่วงที ครอบคลุมทุกช่องทาง และทันทีที่ตรวจพบหนึ่งจุด ก็สามารถหยุดยั้งการโจมตีได้ทั่วทุกที่ ("see it once, stop it everywhere") ทั้งยังสามารถจัดการกับภัยคุกคามได้ทั้งก่อนหน้า ระหว่าง และภายหลังการโจมตี
ธุรกิจเอสเอ็มอีมีความสำคัญอย่างมากต่ออนาคตดิจิทัลของประเทศ การใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะที่เรียบง่าย ปลอดภัย เปี่ยมประสิทธิภาพ และราคาประหยัด จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ "ไทยแลนด์ 4.0" เทคโนโลยีจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตลาด โดยจะเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีดำเนินงานได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยอาศัยการทำงานร่วมกัน ขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งยังมีแพลตฟอร์มสำหรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ เพิ่มมูลค่า และแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่และธุรกิจข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ