กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--
นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อการบังคับใช้มาตรการปกป้องการนำเข้า เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนเจืออัลลอยหน้าตัดรูปตัว H หรือ H-Beam เจืออัลลอยที่เพิ่มขึ้น หรือมาตรการเซฟการ์ด (Safeguard) ที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศให้มีผลบังคับใช้เมื่อ 28 มกราคม 2560 ที่ผ่านมาว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการออกมาตรการดังกล่าวของภาครัฐ เนื่องจากจะเป็นการยับยั้งและช่วยลดความเสียหายจากการนำเข้าเหล็ก H-Beam เจืออัลลอย ซึ่งเป็นการสกัดกั้นเหล็กด้อยคุณภาพโดยเฉพาะเหล็กเจือโบรอนซึ่งเป็นอัลลอยชนิดหนึ่ง เป็นการใช้การเจืออัลลอยที่ผิดวัตถุประสงค์ทางเทคนิค ไม่ให้เข้ามาสร้างความเสียหายและความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในการก่อสร้างในประเทศ
ทั้งนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้เล็งเห็นถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น จึงได้มีมาตรการป้องกันการนำเข้าเหล็กเจืออัลลอยแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย ปากีสถาน อินโดนีเซีย เกาหลี เป็นต้น ที่ผ่านมา มีการส่งออก H-Beam เจืออัลลอยมายังประเทศไทยจำนวนมาก โดยไม่มีการจำหน่ายและใช้งานภายในประเทศผู้ส่งออกนั้นเลย แสดงให้เห็นว่า เหล็กเจืออัลลอย เป็นเหล็กที่ผลิตมาเพื่อประโยชน์ในการส่งออก และหลบเลี่ยงพิกัดภาษีศุลกากร และไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จำนวนมาก รวมทั้งไม่ได้คำนึงความปลอดภัยในการใช้งานของผู้บริโภคชาวไทยแต่อย่างใด ดังนั้น การมีมาตรการ Safeguard จะเป็นการปกป้องคนไทยจากการใช้สินค้าที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
นอกจากนี้ ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ก็ได้กำหนดให้เหล็ก H-Beam เจืออัลลอย เป็นเหล็กที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ตาม มอก.1227-2558 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆนี้ จึงเป็นการตอกย้ำว่า ภาครัฐ ต่างก็ได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้บริโภคชาวไทยเป็นอันดับแรก การออกมาตรการต่างๆ ก็เพื่อสกัดไม่สินค้าเหล็ก H-Beam ด้อยคุณภาพและไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในประเทศ