กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--เอ็มเอสแอล กรุ๊ป
คนไทยใช้เน็ตบนมือถือพุ่ง นิด้าโพล เผย ผลสำรวจความคิดเห็นพฤติกรรมการใช้เน็ตบนมือถือ ชี้ กว่าครึ่งคนไทยไม่เข้าใจแพ็คเกจ 'ใช้เน็ตได้ไม่อั้น' ผู้ใช้บริการแบบรายเดือน เจอปัญหาใหญ่ 'เน็ตปรับลดสปีด' ขณะที่ ผู้ใช้บริการแบบเติมเงิน รู้ไม่เท่าทันข้อจำกัด 'โปรเสริม'
จากอัตราการเติบโตของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์บนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย จนมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของคนไทย จนกลายเป็นสิ่งจำเป็นไปในที่สุด ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" จึงทำการสำรวจความคิดเห็นพฤติกรรมการใช้เน็ตบนมือถือ ในกลุ่มตัวอย่างคนไทยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,529 คน ระหว่างวันที่ 30 ม.ค. – 2 ก.พ. 2560 เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อผู้บริโภคมากขึ้น โดยพบว่าปัญหาหลักที่พบจากการใช้แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตทางมือถือ เป็นเรื่องความต้องการการใช้อินเทอร์เน็ตมีมากกว่าแพ็กเกจที่ทางผู้ให้บริการเสนอขายอยู่ คิดเป็นร้อยละ 43.99 รองลงมาคือเรื่องราคาของแพ็กเกจสูงเกินไป ทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตให้เพียงพอกับความต้องการใช้ได้ คิดเป็นร้อยละ 36.01 และแพ็กเกจของผู้ให้บริการมีความซับซ้อน เข้าใจยาก บางครั้งจึงได้ในสิ่งที่ไม่ตรงตามความต้องการ คิดเป็นร้อยละ 28.47 จากสองอันดับแรก นับได้ว่าร้อยละ 80.00 ของกลุ่มตัวอย่างมีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตพุ่งสูงเกินกว่าแพ็กเกจที่ผู้ให้บริการนำเสนอขายในปัจจุบัน
โดยผลสำรวจระยะเวลาการใช้งานเน็ตบนมิอถือ พบว่า ในกลุ่มตัวอย่าง พบว่าใช้เวลา 1 – 2 ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 24.72 ซึ่งมากที่สุด รองลงมา ใช้เวลามากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 21.91และใช้เวลา 2 – 3 ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็นร้อยละ19.23 ตามลำดับวัตถุประสงค์ในการใช้อินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์พกพาเคลื่อนที่ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ใช้เพื่อพูดคุยติดต่อกับบุคคลที่รู้จัก คิดเป็นร้อยละ85.61 โดยผ่าน Line Facebook และ Instagram ตามลำดับ รองลงมา คือ โพสข้อความ/รูปภาพ คิดเป็นร้อยละ 63.90 โดยผ่าน FacebookInstagram และ Line ตามลำดับ และติดตามข่าวสารทั่วไป เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม กีฬา คิดเป็นร้อยละ 55..79 ตามลำดับ
เมื่อสอบถามถึงความเข้าใจเกี่ยวกับแพ็คเกจแบบ 'ใช้ได้ไม่อั้น' หรือ 'Unlimited' ร้อยละ 49.05 เข้าใจว่า เมื่อใช้อินเทอร์เน็ตจนถึงจุดหนึ่งที่กำหนดไว้ในแพ็กเกจ อินเทอร์เน็ตจะถูกปรับลดความเร็ว แต่ยังใช้ต่อไปได้ ซึ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งของกลุ่มสำรวจ ขณะที่ร้อยละ 35.45 ที่เข้าใจว่าสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ไม่จำกัด ด้วยความเร็วที่ดีที่สุดของเครือข่ายมือถือนั้น และอีกร้อยละ 15.30 เข้าใจว่า สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ไม่จำกัด ตามจำนวนวันที่ซื้อ
เมื่อสำรวจเจาะลึกถึงปัญหาของผู้ใช้บริการแบบรายเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้เน็ตได้ไม่อั้น พบว่าปัญหาใหญ่ของกลุ่มนี้ คือ 'เน็ตปรับลดสปีด' ร้อยละ 40.25 อินเทอร์เน็ตจะถูกปรับลดสปีด ทำให้วิ่งช้าลง เมื่อการใช้งานผ่านไประยะหนึง รองลงมา ร้อยละ 35.17 จำนวนอินเทอร์เน็ตที่ให้มาตามแพ็กเกจ ไม่เคยใช้พอ และร้อยละ 21.89 ค่าโทรที่ให้มาตามแพ็กเกจ ไม่เคยใช้พอ
ด้านผู้ใช้บริการแบบเติมเงิน พบว่า ร้อยละ 41.18 เจอปัญหาโปรเสริมมีข้อจำกัดมากมาย บางครั้งไม่สามารถรู้เท่าทัน จึงทำให้เสียเงินไปในสิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจ หรือได้จำนวนเน็ตหรือโทรที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิดไว้ รองลงมา ร้อยละ 26.66 โปรเสริมมีมากมาย ซับซ้อน ยุ่งยาก ไม่เข้าใจรายละเอียดในการใช้งาน และร้อยละ 20.45 ยอดเงินที่เติมหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ
ทั้งนี้ระดับความพึงพอใจต่อแพ็กเกจในอุปกรณ์พกพาเคลื่อนที่ จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ผู้ใช้บริการแบบเติมเงิน มีความพึงพอใจ ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 6.52 คะแนน และผู้ใช้บริการแบบรายเดือน มีความพึงพอใจ ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 6.67 คะแนน สำหรับข้อเสนอแนะ หรือวิธีการแก้ไขปรับปรุงเกี่ยวกับแพ็กเกจแบบรายเดือน หรือแพ็กเกจแบบเติมเงิน พบว่า ร้อยละ 28.38 สัญญาณอินเทอร์เน็ตควรมีความเร็วสม่ำเสมอ ร้อยละ 16.59 ควรปรับปรุงสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้มีความเสถียร และร้อยละ 15.72ควรเพิ่มจำนวนชั่วโมงเน็ตที่เยอะขึ้นแต่ราคาแพ็กเกจถูกลง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฐา วินิจนัยภาค ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" กล่าวถึงการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ว่า"ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาที่แท้จริงของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือ ซึ่งความสับสนเกี่ยวกับแพ็คเกจแบบใช้ได้ไม่จำกัด เป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้ให้บริการต้องเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือออกแพ็กเกจที่ตรงใจผู้บริโภคมากขึ้น ผู้ใช้บริการรายแบบเดือนประสบปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพและปริมาณของสัญญาณทั้งอินเทอร์เน็ตและการโทร ขณะที่ผู้ใช้บริการแบบเติมเงินประสบปัญหาเกี่ยวกับโปรโมชั่นเสริมและยอดเงินเป็นหลัก
ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยเป็นอย่างมาก การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์แบบพกพา ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคนไทยไปแล้ว และที่สำคัญอินเทอร์เน็ตยังเป็นอีกสิ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น ทั้งในด้านการสื่อสาร การศึกษาข่าวสาร และการค้า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ ในมูลค่าที่เหมาะสม เป็นความคุ้มค่าที่ผู้บริโภคไทย ควรได้รับจากผู้ให้บริการสัญญาณ" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฐา กล่าวทิ้งท้าย