กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงมหาดไทย ประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย โดยสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้วทุกจังหวัด จึงได้ประสานคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยด่วน พร้อมให้จังหวัดเร่งดำเนินการซ่อมแซมบ้านเรือน ที่เสียหายให้แล้วเสร็จตามกำหนดภายใน 30 วัน โดยให้ดำเนินการตามระเบียบและขั้นตอนที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ส่วนด้านการประกอบอาชีพ ให้เร่งสำรวจข้อมูลความเสียหายพร้อมประสานการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปด้วยความรวดเร็วและทั่วถึง ทั้งนี้ เน้นย้ำให้จังหวัดตรวจสอบข้อมูลผู้ประสบภัยที่เป็นกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้พิการ ผู้ยากไร้ เด็กกำพร้า ผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองและผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เพื่อประสานการดูแลและวางแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาเป็นพิเศษ
นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าส่วนอำนวยการ ภายใต้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช.ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้วทุกจังหวัด ระดับน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ปกติและลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย บกปภ.ช. จึงได้สั่งการให้จังหวัดตรวจสอบและทบทวนข้อมูลความเสียหายจากอุทกภัยให้ถูกต้องครบถ้วนและครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านการดำรงชีพ ชีวิตและทรัพย์สิน การประกอบอาชีพ และสิ่งสาธารณประโยชน์ เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการสงเคราะห์เยียวยาและเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ อย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ พร้อมเร่งรัดคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) ประชุมพิจารณาการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยโดยด่วน เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ สำหรับการซ่อมแซมบ้านเรือนและที่พักอาศัยที่ได้รับความเสียหาย จำนวน 11,873 หลัง แยกเป็น เสียหายทั้งหลัง 314 หลัง เสียหายบางส่วน 11,559 หลัง (เสียหายมาก 788 หลัง และเสียหายน้อย 10,771 หลัง) ได้เร่งให้จังหวัดประสานหน่วยงานรับผิดชอบหลัก 4 หน่วย ได้แก่ ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทีมตำบลประชารัฐ (อาชีวะและ กศน.) ดำเนินการซ่อมแซมบ้านเรือนให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 7,142 หลัง อยู่ระหว่างดำเนินการ 4,731 หลัง โดยมีจังหวัดประสานขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือน รวม 9 จังหวัด ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณในการซ่อมแซมบ้านเรือนแก่จังหวัดต่างๆ แล้วเป็นเงิน จำนวน 74,097,652 บาท ซึ่งได้เน้นย้ำให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนในการซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหายตามระเบียบและขั้นตอนที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปด้วยความรวดเร็วและทั่วถึง ทั้งนี้ กำหนดต้องดำเนินการซ่อมแซมบ้านเรือนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 5 มีนาคม 2560 บ้านเรือนต้องได้รับการซ่อมแซมแล้วเสร็จครบทุกหลัง สำหรับด้านการประกอบอาชีพ ให้เร่งสำรวจข้อมูลความเสียหายครอบคลุม ทั้งด้านเกษตร ประมง ปศุสัตว์ พร้อมประสานการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับจากสถานการณ์อุทกภัยสิ้นสุด หรือวันที่ 30 เมษายน 2560 ทั้งเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 3,000 บาท แก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ประสานการปฏิบัติ ภายใต้ บกปภ.ช.เปิดเผยว่า ได้เน้นย้ำให้จังหวัดตรวจสอบข้อมูลผู้ประสบภัยที่เป็นกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้พิการ ผู้ยากไร้ เด็กกำพร้า ผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง และผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ใน 3 ส่วน ได้แก่ 1) ด้านผู้เสียชีวิต ข้อมูลเกี่ยวกับทายาทของผู้เสียชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่กำลังศึกษาในระดับชั้นต่างๆ 2) ด้านที่พักอาศัย ตรวจสอบบ้านเรือนของกลุ่มเปราะบางที่เสียหาย ซึ่งต้องได้รับการดูแลและช่วยเหลือเยียวยาเป็นพิเศษ และ 3) ด้านการประกอบอาชีพ สำรวจข้อมูลความต้องการช่วยเหลือด้านอาชีพ อาทิ การแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืช การสนับสนุนเครื่องมือประกอบอาชีพ และการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ในระยะสั้น โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและ บกปภ.ช. ส่วนหน้าตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียด เพื่อประสานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และเป็นธรรม