ฟิทช์ปรับแนวโน้มเครดิตของบริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นมีเสถียรภาพจากเป็นบวก

ข่าวทั่วไป Thursday August 4, 2005 10:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มเครดิตของบริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ APD เป็นแนวโน้มมีเสถียรภาพจากแนวโน้มเป็นบวก ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ของ APD ระยะยาวที่ระดับ “BBB(tha)” และระยะสั้นที่ระดับ “F3(tha)” และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ระดับ “BBB(tha)” ของหุ้นกู้ของ APD มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2.6 พันล้านบาทและตั๋วแลกเงิน (Bills of Exchange) ของ APD ชุดที่ 11-22/2547 และชุดที่ 25-36/2547 มูลค่ารวม 400 ล้านบาท การปรับแนวโน้มเครดิตของ APD สะท้อนถึงระดับของหนี้สินและอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในปี 2547 และคาดว่าจะยังคงสูงต่อไปในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า อีกทั้งยังรวมถึงภาพการชะลอตัวของแนวโน้มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยรวม
อันดับเครดิตของ APD สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาดต่อกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนของบริษัทในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภททาวน์เฮ้าส์ในเขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งผลประกอบการที่ค่อนข้างแข็งแกร่งและโครงสร้างของหนี้สินที่ค่อนข้างดีของบริษัท APD มีระดับความเสี่ยงที่ต่ำกว่าโดยมีอัตราส่วนกำไรขั้นต้นที่ดีกว่า และระยะเวลาในการดำเนินโครงการที่เร็วกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียม อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของ APD ได้ถูกลดทอนลงจากลักษณะความผันผวนของวัฎจักรธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย การชะลอตัวของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่สูงอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลงเป็นปัจจัยเชิงลบที่กระทบต่ออุปสงค์ของบ้านใหม่ ในขณะที่การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นและการเพิ่มขึ้นของราคาค่าวัสดุก่อสร้างกำลังเป็นปัจจัยกดดันต่ออัตราส่วนกำไรจากการพัฒนาโครงการ ปัจจัยเสี่ยงอื่นประกอบด้วย ความไม่สอดคล้องของกระแสเงินสดรับและจ่ายในแต่ละโครงการ ระยะเวลาในการขายโครงการที่ยาวขึ้นอันเป็นผลมาจากการเปิดโครงการใหม่ที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงเหล่านี้ได้ถูกลดทอนลงจากการที่ทีมผู้บริหารได้ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว
ในช่วงสามปีที่ผ่านมากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ APD อยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง กระแสเงินสดจากการดำเนินงานสุทธิ (หลังหักยอดจ่ายเงินปันผลสุทธิ) ของบริษัทยังคงตึงตัว เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของเงินทุนหมุนเวียนอันเป็นผลมาจากค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นและการซื้อที่ดินเปล่าเพื่อใช้พัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง ระดับหนี้สินสุทธิของ APD เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.3 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2547 จากระดับ 1.5 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2546 อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และ ค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EBITDA) ลดความแข็งแกร่งลงมาอยู่ที่ระดับ 2.3 เท่า ณ สิ้นปี 2547 จากระดับ 1.0 เท่า ณ สิ้นปี 2547 ซึ่งสูงกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้เมื่อปี 2547 ที่ระดับต่ำกว่า 2.0 เท่า ระดับหนี้สินสุทธิของ APD เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.9 พันล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2548 ในขณะที่อัตราส่วน Net Debt/EBITDA ลดความแข็งแกร่งลงมาที่ระดับ 2.7 เท่า การเปิดโครงการใหม่ที่เพิ่มขึ้นและการจ่ายเงินปันผลที่สูง คาดว่าจะทำให้ Net Debt/EBITDA ของ APD จะยังคงอยู่ในระดับที่สูงประมาณ 2.0-3.0 เท่า ในปี 2548/4549 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินมีแนวโน้มสูงขึ้น ฟิทช์ยังเห็นว่าโครงสร้างหนี้สินของบริษัทยังจัดว่ามีความแข็งแกร่งพอสมควร อีกทั้งสภาพคล่องทางการเงินของ APD ยังมีปัจจัยหนุนจากระดับของเงินสดที่สูง (642 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2548) ระดับของหนี้สินระยะสั้นที่ต่ำ และการมีวงเงินที่สามารถเบิกจ่ายได้จากธนาคารประมาณ 6.4 พันล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2548
APD เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยของประเทศไทย โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนในตลาดประเภททาวน์เฮ้าส์ระดับกลางในกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ APD ยังประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ผ่านทางบริษัทย่อยคือ บริษัท พรีบิลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ Pre-built โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 64.7% ในปี 2547 รายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ APD มีสัดส่วนประมาณ 84% ของรายได้สุทธิ โดยในส่วนที่เหลือเป็นรายได้จาก Pre-built ปัจจุบัน APD จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 2 รายคือ คุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน คุณพิเชษฐ วิภวศุภกรและกลุ่มบริษัทในเครือ โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นรวมประมาณ 35% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ท่านสามารถหาได้จาก www.fitchratings.com รวมทั้ง อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต และนโยบายที่เกี่ยวข้องซึ่งได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวไว้ตลอดเวลา เอกสารนี้จะปรากฎอยู่บนเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นเวลา 7 วัน--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ