กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 09.00 น. ที่กระทรวงศึกษาธิการ นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( สพฉ.) พร้อมด้วย นายประเสริฐ บุญเรือง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือในการดำเนินงานด้านการปฐมพยาบาล การช่วยฟื้นคืนชีพ การใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ ( Automated External Defibrillator : AED ) กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินในสถานศึกษา
นพ.อนุชา กล่าวว่า สถิติ "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน" ในแต่ละปีประเทศไทยมีประชาชนเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่า 54,000 คน เท่ากับว่าในทุกๆ 1 ชั่วโมงมีคนเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากถึง 6 คน และเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยทุกเพศ ทุกวัย แต่หากผู้ป่วย ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และถูกวิธีตามหลักห่วงโซ่การรอดชีวิต คือการช่วยเหลือด้วยการ CPR ประกอบกับการใช้เครื่องฟื้นคืนชีพหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator : AED ) ภายในระยะเวลา 4 นาทีหลังจากหัวใจหยุดเต้น ก็จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของประชาชนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกสถานพยาบาลได้ ด้วยเหตุนี้กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสพฉ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินงานด้านการปฐมพยาบาล การช่วยฟื้นคืนชีพ ด้วยการใช้เครื่องAED กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินในสถานศึกษา จึงร่วมกันทำบันทึกความร่วมมือฉบับนี้ขึ้น
นพ.อนุชา กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้เน้นการเรียนให้ได้ทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้จริง จึงมีการบูรณาการความรู้ด้านวิชาการ การวิจัย การฝึกอบรม รวมถึงการพัฒนาหลักสูตร การเรียน การสอน เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากรทางการศึกษา ครูผู้สอนในสถานศึกษาทุกระดับมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะการปฐมพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน และนำไปจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเพื่อให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการปฐมพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างถูกต้องทั้งที่บ้าน สถานศึกษา และการเดินทาง
"ทุกหน่วยงานจะร่วมกันจัดทำหลักสูตรการดำเนินงานด้านการปฐมพยาบาล การช่วยฟื้นคืนชีพ การใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ หรือ AED โดยสพฉ.จะให้การสนับสนุนทางวิชาการ พร้อมมอบเครื่อง AED และวิทยากรในการให้ความรู้ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร ขณะที่การดำเนินการจัดรายวิชาพื้นฐานและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนนั้น สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานกรรมการการอาชีวศึกษา จะเป็นผู้ดำเนินการ" เลขาธิการสพฉ.กล่าว
ขณะที่นายประเสริฐกล่าวว่า การเจ็บป่วยฉุกเฉินส่วนใหญ่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นภัยคุกคามต่อชีวิต ไม่ว่าเป็นการเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุ หรือการกำเริบเฉียบพลันของโรคต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทุกเพศและทุกวัย การรักษาพยาบาลฉุกเฉินจะไม่เกิดผลดีหากมีความล่าช้า และการปฏิบัติการปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่ไม่ถูกต้อง ผู้ป่วยฉุกเฉินจะเสียโอกาสอยู่รอดในทุกนาทีที่ผ่านไป ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินไปโรงพยาบาลอย่างไม่เหมาะสมทำให้เกิดผลเสียแก่ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างมาก ดังนั้นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดความรุนแรง ความพิการ และความตายของผู้ป่วยได้ ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหน่วยงานที่ให้บริการทางการศึกษา ในด้านวิชาการ และทักษะการดำรงชีวิตที่จำเป็น ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะพัฒนาเยาวชน นักเรียน นักศึกษา เกิดทักษะด้านการปฐมพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ จึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านวิชาการกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งการลงนามบันทึกความร่วมมือในวันนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่จะประสานความร่วมมือทางวิชาการ การสร้างนวัตกรรม ในการพัฒนาเรื่องการปฐมพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินในสถานศึกษาให้ขยายผลออกไปในวงกว้างออกไปและเป็นการร่วมพัฒนาเยาวชนให้เกิดทักษะการปฐมพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อต่อยอดให้กับเยาวชนนำไปสร้างประโยชน์ช่วยเหลือสังคมต่อไป