กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--ซีพีเอฟ
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ รับ 7 รางวัลระดับโลก TPM Excellence Awards จากประเทศญี่ปุ่นมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่องค์กรที่มีระบบงานตามแนวคิด "การป้องกัน" ส่งผลให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน ตลอดจนเอื้อประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และชุมชน
นายศักดิ์ชัย บัวมูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟโดยธุรกิจอาหารสัตว์บก ได้นำระบบ TPM (Total Productive Maintenance) มาประยุกต์ใช้และกำหนดแนวทางการพัฒนาให้ผู้บริหารและพนักงานเข้าใจง่ายๆ กล่าวคือ สร้างระบบ ยกระดับ ปรับใช้จริง อิงเป้าหมาย จนกระทั่งสามารถคว้ารางวัล TPM จากประเทศญี่ปุ่นได้ถึง 7 โรงงาน ได้แก่ โรงงานอาหารสัตว์บก หาดใหญ่, โรงงานอาหารสัตว์บก นครราชสีมา, โรงงานอาหารสัตว์บก ลำพูน, โรงงานอาหารสัตว์บก ราชบุรี, โรงงานอาหารสัตว์บก ศรีราชา, โรงงานอาหารสัตว์บก ธารเกษม จ.สระบุรี, และ โรงงานอาหารสัตว์บก ท่าเรือ จ.อยุธยา ทั้งนี้ มีโรงงานจากทั่วโลกขอเข้ารับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ TPM ชาวญี่ปุ่น (TPM Assessor) ของสถาบัน JIPM (Japan Institute of Plant Maintenance) โดยปีนี้ ซีพีเอฟสามารถคว้ารางวัล Awards for TPM Excellence Award, Category A มาได้มากที่สุดจากโรงงานต่างๆ ของประเทศไทยที่ส่งเข้าร่วมประเมิน โดยสถาบัน JIPM จะทำการมอบรางวัลดังกล่าวในวันที่ 23 มีนาคม 2560 ณ เกียวโต อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเฟอร์เรนท์ เซ็นเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้ วิธีการประเมินรางวัล TPM จะวัดจากหลายด้าน ได้แก่ 1.) ด้านการบริหารจัดการโรงงาน ที่มีการถ่ายทอดนโยบายไปสู่การปฏิบัติ (Policy Deployment) หรือเริ่มต้นจากวิสัยทัศน์ ไปจนถึงการกำหนดตัวชี้วัด และเป้าหมายของการดำเนินงาน อันจะทำให้ผู้บริหารและพนักงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างสอดคล้องกับนโยบายของบริษัท 2.) ด้านระบบ โดยจะประเมินความน่าเชื่อถือ ความสมเหตุสมผลของระบบที่ถูกสร้างขึ้น และต้องเป็นระบบที่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง สร้างผลลัพธ์ที่ดีได้จริง เป็นไปตามแนวทางของ TPM ที่ JIPM ได้วางไว้ 3.) ด้านบุคลากร จะประเมินทักษะความสามารถของพนักงานทุกระดับ ในการวิเคราะห์ ปรับปรุง (ไคเซ็น) เพื่อกำจัดความสูญเสียผ่านการทำโครงการปรับปรุงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ควบคุมเครื่องจักร (Operator) 4.) ด้านผลลัพธ์ จะประเมินผลดำเนินงานที่สอดคล้องกับระบบ และทักษะความสามารถของบุคลากร โดยพิจารณาทั้งความสมเหตุสมผลของตัวชี้วัด ความท้าทายของเป้าหมาย และผลสำเร็จ และ 6.) ด้านความมีส่วนร่วม ซึ่งจะประเมินความมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อกำจัดความสูญเสียของพนักงานทุกคน ทุกระดับ ทุกหนวยงาน ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตโดยตรง
กระบวนการประเมินทั้ง 6 ด้าน นอกจากจะส่งผลให้โรงงานมีประสิทธิภาพการผลิตที่ดี ลดการสูญเสีย ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแล้ว ยังส่งผลถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และชุมชน อาทิ การลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต ส่งผลให้ลดการเกิดมลภาวะภายในชุมชน ตลอดจนลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม./