กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย ซึ่งสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้วทุกจังหวัด จึงได้ประสานจังหวัดเร่งสำรวจ ตรวจสอบข้อมูลความเสียหายจากอุทกภัยให้ถูกต้องครบถ้วน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้พิการ ผู้ยากไร้ เด็กกำพร้า และผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองและผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เพื่อประสานการดูแลและวางแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาเป็นพิเศษ สำหรับการซ่อมแซมบ้านเรือนที่อยู่อาศัยกำหนดให้ซ่อมแซมแล้วเสร็จภายใน 30 วัน ส่วนการช่วยเหลือด้านการประกอบอาชีพ ต้องจ่ายเงินเยียวยาแก่เกษตรกรให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับจากสถานการณ์คลี่คลาย พร้อมกำชับให้จังหวัดยึดการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และเร่งฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หัวหน้าศูนย์ประสานการปฏิบัติ ภายใต้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ผ่านวิดิโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช.ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย เข้าร่วมประชุมฯ สำหรับสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้วทุกจังหวัด ระดับน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ปกติ และอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย บกปภ.ช. จึงได้สั่งการให้จังหวัดตรวจสอบและทบทวนข้อมูลความเสียหายจากอุทกภัยให้ถูกต้องครบถ้วน และครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านการดำรงชีพ ชีวิตและทรัพย์สิน การประกอบอาชีพ และสิ่งสาธารณประโยชน์ เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการสงเคราะห์เยียวยาและเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ อย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้พิการ ผู้ยากไร้ เด็กกำพร้า ผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง และผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ใน 3 ส่วน ได้แก่ 1) ด้านผู้เสียชีวิต ข้อมูลเกี่ยวกับทายาทของผู้เสียชีวิตที่กำลังศึกษาในระดับชั้นต่างๆ 2) ด้านที่พักอาศัย ตรวจสอบบ้านเรือนของกลุ่มเปราะบางที่เสียหายต้องได้รับการดูแลและช่วยเหลือเยียวยาเป็นพิเศษ และ 3) ด้านการประกอบอาชีพ สำรวจข้อมูลความต้องการช่วยเหลือด้านอาชีพ อาทิ การแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืช การสนับสนุนเครื่องมือประกอบอาชีพ และการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ในระยะสั้น โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และบกปภ.ช.ส่วนหน้าตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียด เพื่อประสานให้การช่วยเหลือ ในกรณีที่ไม่สามารถใช้งบประมาณตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ได้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรวบรวมเพื่อประสานขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย สำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมเร่งรัดคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) ประชุมพิจารณาการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยโดยด่วน สำหรับการซ่อมแซมบ้านเรือนและที่พักอาศัยที่ได้รับความเสียหาย รวม 11,818 หลัง สำนักนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณในการซ่อมแซมบ้านเรือนแก่จังหวัดต่างๆ แล้วเป็นเงิน จำนวน 74,532,652 บาท บกปภ.ช.จึงได้เร่งให้จังหวัดประสานหน่วยงานรับผิดชอบหลัก 4 หน่วย ได้แก่ ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทีมตำบลประชารัฐ (อาชีวะและ กศน.) ดำเนินการซ่อมแซมบ้านเรือน โดยกำหนดต้องดำเนินการซ่อมแซมบ้านเรือนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 5 มีนาคม 2560 บ้านเรือนต้องได้รับการซ่อมแซมแล้วเสร็จครบทุกหลัง ส่วนด้านการประกอบอาชีพ ให้เร่งสำรวจข้อมูลความเสียหายครอบคลุม ทั้งด้านเกษตร ประมง ปศุสัตว์ พร้อมประสานการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับจากสถานการณ์อุทกภัยสิ้นสุด หรือภายในวันที่ 30 เมษายน 2560 ทั้งเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 3,000 บาทแก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้จังหวัดยึดการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง เท่าเทียม ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกัน ขณะที่ระบบสาธารณูปโภคและเส้นทางคมนาคมได้ประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการซ่อมแซมให้ใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว อีกทั้งให้จังหวัดวางแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว โดยถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำมาปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งการแก้ไขปัญหาเชิงป้องกันที่เน้นโครงสร้าง การขยายท่อลอด การรื้อถอนสิ่งกีดขวางทางน้ำ การขุดลอกคูคลอง และการทำทางเบี่ยงน้ำ รวมถึงการกำจัดขยะในทะเล การแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย การกำจัดขยะมูลฝอย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในอนาคต เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว