กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) แนะผู้ประกอบการยุคใหม่ โดยเฉพาะทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพและกลุ่มเอสเอ็มอี ต้อง "ลีน" เพื่อลดต้นทุนรับการแข่งขันสูงในตลาดปี 2560 รับภาวะเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในขั้นชะลอตัวลง โดยการประยุกต์ใช้ "ระบบลีน" จะสามารถลดต้นทุนได้มากกว่า 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มโอกาสความสำเร็จในการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อเจาะตลาดโลกในสภาวะปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องตระหนักถึง 2 ข้อสำคัญ คือ 1. เข้าใจกลุ่มลูกค้า (Customer Focus) และ 2. สร้างมูลค่าเพิ่มให้ถูกจุด (Value Added Activity) ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้จัดงานสัมมนา SIE Seminar ตอนที่ 8 "Learn to Lean สร้างธุรกิจยุคใหม่...เติบโตได้แบบไร้พรมแดน" เมื่อเร็วๆ นี้ ณ อาคารมิว วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่ www.cmmu.mahidol.ac.th
นายกิตติชัย ราชมหา อาจารย์ประจำภาควิชาผู้ประกอบการและนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า จากกระแสการเติบโตของสตาร์ทอัพในปัจจุบัน ที่คนรุ่นใหม่ผันตัวเป็นผู้ประกอบการธุรกิจของตนเองมาก โดยเฉพาะสตาร์ทอัพ ที่ลงทุนเพียงกึ่งหนึ่ง แต่กลับสร้างรายได้ได้อย่างมหาศาล จึงเป็นผลให้กลุ่มนักศึกษาจบใหม่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เกิดความตื่นตัวและสนใจอยากทำธุรกิจเป็นของตนเองมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามโอกาสความสำเร็จของธุรกิจใหม่มีเพียงไม่ถึง 10เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับหากพิจารณาถึงสภาวะภาพรวมเศรษฐกิจโลก ปี 2560 ในปัจจุบันที่ยังอยู่ในช่วงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องด้วยปัจจัยต่างๆ ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในต่างประเทศจำนวนมาก หันมาให้ความสนใจ "ระบบลีน" (LeanSystem) มากขึ้น ซึ่งระบบดังกล่าว สามารถถูกนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจทุกขนาด โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการยุคใหม่ เพื่อให้สามารถวางรากฐานของธุรกิจอย่างมั่นคงด้วยต้นทุนที่ต่ำลงกว่าเดิมกว่า 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มโอกาสความสำเร็จในการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อเจาะตลาดโลกในสภาวะปัจจุบันมากขึ้น
นายกิตติชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบลีน คือ ระบบการจัดการต้นทุนให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจเท่าที่จำเป็น โดยมุ่งกระตุ้นให้ผู้เริ่มต้นตระหนักถึงความจำเป็นในการเลือกใช้ทรัพยากรบุคคล เงินทุน ระบบโลจิสติกส์หรืออื่นๆ เท่าที่จำเป็นกับขนาดธุรกิจและความต้องการของเป้าหมายกลุ่มผู้บริโภค (Paint Point) โดยระบบลีนสามารถประยุกต์ใช้กับธุรกิจทุกประเภท ทุกขนาดเพื่อให้สามารถลดทอนต้นทุนในส่วนการบริหารจัดการภายในที่ไม่กระทบกับผู้บริโภค ซึ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก อย่างสตาร์ทอัพ หรือเอสเอ็มอีที่มีเงินทุนต่ำ ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการแบบเผื่อเลือกของผู้บริโภคได้ อาทิ ในกรณีที่เป็นกลุ่มธุรกิจประเภทอาหารเดลิเวอร์รี่ อาจเลือกจัดจ้างบริษัทขนส่งโดยเฉพาะ (Outsource) แทนการจ้างพนักงานสำหรับขนส่งโดยเฉพาะเป็นของตนเอง ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้การบริหารธุรกิจเกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
นายกิตติชัย กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการยุคใหม่ที่ต้องการประยุกต์ใช้ระบบลีน ต้องคำนึงถึง 2 ข้อสำคัญสู่ความสำเร็จ ได้แก่
1) เข้าใจกลุ่มลูกค้า (Customer Focus) การค้นหาความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มธุรกิจประเภทอาหาร และเบเกอรี่ จะชี้วัดได้จากคุณภาพของรสชาติอาหาร การบริการของทางร้าน และบรรยากาศโดยรอบ เป็นต้น
2) สร้างมูลค่าเพิ่มให้ถูกจุด (Value Added Activity) การกำหนดกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ผู้บริโภคให้ความสนใจเรื่องของรสชาติอาหารเป็นสำคัญ อาจเลือกลงทุนกับวัตถุดิบอาหารที่ได้คุณภาพ ทดแทนการจ้างพนักงานเสิร์ฟในจำนวนมาก เป็นต้น
ด้าน นายทีปกร ศิริวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฟว์ลูป จำกัด (FIVELOOP) ผู้พัฒนาซอฟแวร์เพื่อการศึกษา กล่าวเสริมว่า สำหรับบริษัทตน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจการพัฒนาซอฟแวร์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ได้เลือกนำระบบลีนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ผ่านการคงขนาดของธุรกิจให้อยู่ในขนาดเล็ก ในจำนวนพนักงานไม่เกิน 10 คน ด้วยมีแนวนโยบายหลักในการบริหาร คือ การควบคุมงบประมาณไม่ให้ขยายตัวเกินกำหนด ควบคู่ไปกับการผลักดันให้พนักงานที่มีศักยภาพในการทำงาน และการบริหารจัดการสูง ได้มีโอกาสตั้งตัวเปิดบริษัทใหม่ พร้อมทั้งให้เงินทุนแก่พนักงานสำหรับช่วงเริ่มต้น เพื่อนำไปสู่การเป็นบริษัทเครือข่ายร่วมกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการควบคุมต้นทุนไม่ให้องค์กรขยายตัวแล้ว ยังสามารถขยายศักยภาพเครือข่ายการทำงานที่แข็งแกร่งได้อีกทางหนึ่ง ควบคู่ไปกับการสร้างขวัญกำลังใจแก่พนักงานในองค์กร
นายทีปกร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้เริ่มต้นธุรกิจ สามารถนำระบบลีน (Lean System) ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างง่าย โดยมีเคล็ดลับ 3 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จ คือ 1.สร้าง (Build) สร้างตัวอย่างสินค้าหรือบริการ (Prototype) ให้ผู้บริโภคเห็นภาพ ก่อนตัดสินใจซื้อหรือใช้บริการจริง เพื่อเป็นการตรวจสอบความต้องการของตลาดให้แน่ชัด ก่อนทำการผลิตจริง ควบคู่ไปกับการลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจ 2.วัด (Measure) วัดคุณค่าภายหลังจากการทดสอบตลาดว่า ผู้บริโภคมีความพึงพอใจในตัวสินค้าหรือบริการมากน้อยเพียงใด ผ่านการเห็นเพียงภาพตัวอย่างสินค้าหรือบริการ 3. เรียนรู้ (Learn) เรียนรู้จากสองขั้นตอนข้างต้น เพื่อนำไปสู่การปูทางแผนธุรกิจในระยะยาวเป็นลำดับถัดไป ซึ่งในขั้นการวัด บางกรณีผู้บริโภคอาจจะไม่ได้เกิดความพึงพอใจสูงสุด จนนำไปสู่การตัดสินใจซื้อ ผู้เริ่มต้นก็สามารถนำข้อสังเกต มาพัฒนาต่อยอดหรือปรับรูปแบบสินค้าหรือบริการให้อยู่ในรูปแบบของความพึงพอใจที่ใกล้เคียงกับความต้องการของผู้บริโภค โดยไม่ละทิ้งมาตรฐานการออกแบบและคอนเซปต์ของตัวธุรกิจ
ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้จัดงานสัมมนา SIE Seminar ตอนที่ 8 "Learn to Lean สร้างธุรกิจยุคใหม่...เติบโตได้แบบไร้พรมแดน" เมื่อเร็วๆ นี้ ณ อาคารมิว วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่ www.cmmu.mahidol.ac.th