“ดร.อรรชกา สีบุญเรือง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน วว.

ข่าวทั่วไป Wednesday February 15, 2017 12:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย "ดร.อรรชกา สีบุญเรือง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน วว. มอบนโยบายนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม พัฒนาเศรษฐกิจประเทศให้ยั่งยืน ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะ ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ให้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยมี พลเอกถเกิงกานต์ ศรีอำไพ ประธานกรรมการบริหาร วว. ผศ.ดร.จิรพล สินธุนาวา และ ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. พร้อมด้วยผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง วว. ร่วมให้การต้อนรับ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ วว. เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า วว. เป็นองค์กรที่มีความสำคัญ มีผลงานชัดเจนในการส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่วิสาหกิจชุมชน OTOP/SMEs ซึ่งเป็นชุมชนฐานรากของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ควรขยายขอบเขตพื้นที่ในการนำ วทน. เข้าไปสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนให้มากขึ้น นอกจากนี้ควรมุ่งงานวิจัยที่มีโอกาสด้านเศรษฐกิจกับพันธมิตรภาคเอกชนรายใหญ่ๆ มากขึ้น เพื่อให้มี Impact สูงต่อประเทศ "...วว. ควรจะเป็นหัวหอกในการเสริมความเข้มแข็งให้กับ OTOP/SMEs เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญหลายด้านในการนำมาสนับสนุน นอกจากนี้เพื่อให้มีโครงการใหญ่ๆ ต้องคิดนอกกรอบ...มองโจทย์ของผู้ประกอบการไทยว่าจะนำผลงานเข้าไปแก้ไขโจทย์นั้นได้อย่างไร รวมทั้งควรมีหุ้นส่วนการดำเนินงานที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ก็จะทำให้มีช่องทางและรายได้เข้ามาในองค์กรเพิ่มขึ้น..." ดร.อรรชกา สีบุญเรือง กล่าว ทั้งนี้ ผู้ว่าการ วว. นำเสนอผลงานวิจัยและพัฒนาของ วว. ต่อ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามขอบข่ายภารกิจติดตามการดำเนินงาน ของ วว. ในมิติต่างๆ ดังนี้ การส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP และ SMEs : มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ โดยใช้ วทน. เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาผลิตภาพ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยภาครัฐในการทำงานสนับสนุนแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการ และใช้โครงสร้างพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการขยายตลาดเดิมหรือขยายฐานการค้าไปยังตลาดใหม่ เพื่อชดเชยผลของต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น โดยปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบผ่านการอนุมัติเข้าร่วมโครงการเสริมศักยภาพด้วย วทน. จำนวน 127 ราย วงเงินอนุมัติ 18.11 ล้านบาท งานบริการภาคอุตสาหกรรม MSTQ : ด้านระบบมาตรวิทยา การทดสอบ และการรับรองคุณภาพ นวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ : แขนกลสำหรับหยิบชิ้นงานออกจากเครื่องฉีดพลาสติก (Pick & Place Robot) ช่วยให้งานการผลิตรวดเร็วขึ้น ลดจำนวนของเสีย ทำให้กำลังการผลิตสูง ช่วยลดอัตราการควบคุมคุณภาพลง และช่วยให้อัตราการคืนทุนเร็วขึ้น นวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ : โชว์งานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านการเกษตร เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์และเชิงสังคม มุ่งเน้นความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัจจัยการผลิต เกษตรอินทรีย์ และเกษตรปลอดภัย รวมทั้งการเกษตรอัจฉริยะ นวัตกรรมสะอาดและสิ่งแวดล้อม : การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชนด้วย วทน.เพื่อการบูรณาการอย่างยั่งยืน สร้างโอกาสให้กับพื้นที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงาน สร้างอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมุ่งหวังให้เกิดเป็นชุมชนต้นแบบการจัดการขยะที่ต้นทางแบบไม่กระจาย อีกทั้งเป็นการใช้นวัตกรรมในการจัดการขยะจากบ่อเก่าและบ่อใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนนโยบายจังหวัดสะอาดให้เกิดเป็นรูปธรรม นวัตกรรมอาหารสุขภาพ : โชว์งานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านอาหารสุขภาพอย่างครบวงจร เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มุ่งเน้นความเชี่ยวชาญด้านอาหารเชิงหน้าที่ (Functional Food) และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary Supplement) และการทดสอบความปลอดภัย (Food Safety) รวมไปถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหาร นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร : โชว์งานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากสมุนไพรอย่างครบวงจร เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ มุ่งเน้นความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เวชสำอางและผลิตภัณฑ์ยาจากสมุนไพร รวมถึงบริการวิจัย บริการที่ปรึกษา บริการวิเคราะห์ทดสอบและบริการฝึกอบรมด้านผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์ยาจากสมุนไพร พร้อมนี้ ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ได้นำเสนอผลงานวิจัยใหม่เพื่อสุขภาพ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มฟังก์ชั่นเสริมภูมิคุ้มกันและลดภาวะเสี่ยงมะเร็งจากสารสกัดเห็ดน้ำแป้ง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระชนิดซุปเปอร์ออกไซด์สูง มีความเป็นพิษและไวต่อการยับยั้งเซลล์มะเร็งปากมดลูก สามารถชักนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งแบบ apoptosis โดยเฉพาะเซลล์มะเร็งปากมดลูกและเซลล์มะเร็งตับ มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงกว่าสารเบต้ากลูแคน 2 เท่า ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจากทุเรียนเทศและพืชในสกุลน้อยหน่า จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ มีคุณค่าทางโภชนาการ บริโภคง่าย และอายุการเก็บรักษาประมาณ 1 เดือน ณ อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากผักผลไม้ที่มีสารไบโอฟลาโวนอยด์สูง ซึ่งมีจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คือ มีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าน้ำผักผลไม้รวมที่ไม่ได้เติมสารสกัด 3 เท่า ช่วยในการดูดซึมวิตามินที่ละลายน้ำ ทำให้การทำงานของวิตามินมีประสิทธิภาพดี เสริมสร้างให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ผลิตภัณฑ์มีอายุการเก็บรักษาที่อุณหภูมิปกติได้ 2 เดือน นอกจากนั้น ดร.อรรชกา สีบุญเรือง และคณะ ได้เยี่ยมชมและติดตามการดำเนินงานของ ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง ซึ่ง วว. มีความพร้อมทางห้องปฏิบัติการทดสอบที่ทันสมัยและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านระบบราง ในงานบริการวิเคราะห์และทดสอบทางกล การสั่นสะเทือน ความล้า และความคงทนคลอบคลุมทั้งรถไฟขนส่งผู้โดยสารและสินค้า รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถบรรทุกขนาดเล็ก และรถบรรทุกขนาดใหญ่ รวมทั้งยังให้บริการประเมินคุณภาพและรับรองความปลอดภัยในการใช้งานของชิ้นส่วน อุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบราง ตลอดจนให้บริการเป็นที่ปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาทางวิศวกรรม แก่ผู้ผลิตชิ้นส่วนระบบรางหรือชิ้นส่วนรถไฟในประเทศ ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ ผู้รับเหมาวางระบบรถไฟ หน่วยงานบริหารการเดินรถไฟ หน่วยงานซ่อมบำรุงระบบรถไฟ ฯลฯ ในปีที่ผ่านมา วว. ได้ให้บริการทดสอบผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนระบบรางรถไฟ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท ปัจจุบัน วว. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เป็นหน่วยงานดำเนินการในโครงการความร่วมมือ Thailand-China Joint Research Center on Railway System โดยรับผิดชอบด้านการทดสอบคุณสมบัติทางกล ความแข็งแรง การสั่นสะเทือน ความล้าและความคงทนของชิ้นส่วน อุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบราง เช่น หมอนรถไฟ รางและรอยเชื่อมต่อราง เครื่องยึดเหนี่ยวราง โบกี้ และระบบห้ามล้อ รถไฟ ฯลฯ นอกจากนั้นยังได้สนับสนุนนโยบายด้านระบบขนส่งทางรางของประเทศ โดยจัดทำ โครงการบริการมาตรฐานการทดสอบและพัฒนาระบบขนส่งทางราง เพื่อจัดตั้ง ศูนย์ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ ประเมินคุณภาพและรับรองความปลอดภัยในการใช้งานชิ้นส่วน อุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบรางอย่างครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน โดยขยายขอบเขตการให้บริการด้านระบบรางต่อยอดจากฐานงานเดิมให้ครอบคลุมทุกระบบ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ