กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--TK park
เปิดเวทีจุดประกายความคิดให้เกิดการวิเคราะห์เปรียบเทียบ ปรับใช้และพัฒนาห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้ให้สอดคล้องกับแนวคิด Learning in Digital Age กับ TK Forum 2017 "Better Library and Learning Space: Trends and Ideas"
อุทยานการเรียนรู้ TK park จัดเวทีบรรยายพิเศษว่าด้วยแนวโน้มนวัตกรรมห้องสมุดและแนวคิดการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ การสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้สร้างสรรค์ และตัวอย่างโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ได้รับรางวัลระดับโลก ในงานประชุม สหปาฐกถาประจำปี TK Forum 2017 "Better Library and Learning Space: Trends and Ideas" ได้รับเกียรติจาก 3 วิทยากร จาก 3 ประเทศชั้นนำด้านการพัฒนาห้องสมุด เพื่อให้เกิดแนวคิดใหม่และเป็นแรงบันดาลใจในการปรับใช้พัฒนาต่อไปตามแนวคิด Learning in Digital Age ที่ประกาศเป็นแนวทางในปีนี้
นายอธิปัตย์ บำรุง, ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ประธานกล่าวเปิดงาน TK Forum 2017 กล่าวว่า "ยุคสมัยเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน ข้อมูลความรู้มีปริมาณมหาศาล หลากหลาย และไหลเวียนด้วยความเร็ว การสืบค้นหาข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตกลายเป็นเรื่องปกติที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย การปรับตัวของห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญคือการปรับมุมมองเกี่ยวกับบทบาทของห้องสมุดที่มีต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งประเด็นที่ท้าทายว่า ในโลกยุคใหม่ห้องสมุดจะต้องมิใช่เป็นเพียงแหล่งรวมหนังสือและสื่อหรือทำหน้าที่เพียงให้บริการยืมคืนทรัพยากรแต่เพียงอย่างเดียว
ผลที่ตามมาก็คือ เกิดนวัตกรรมการจัดการห้องสมุดอย่างขนานใหญ่ ทั้งในแง่ของการปรับรูปแบบการใช้งานพื้นที่ห้องสมุดให้ตอบสนองจุดประสงค์ที่หลากหลาย อาทิ การเป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ การสร้างแรงบันดาลใจ การพบปะแลกเปลี่ยนความคิดและการเปิดพื้นที่สำหรับกิจกรรมการมีส่วนร่วมทุกรูปแบบ
ขณะที่ในแง่ของการออกแบบบริการ ก็มีการนำเสนอบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับความพึงพอใจสูงสุด ทั้งการนำเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวก และการมีปฏิสัมพันธ์ด้วยการเอาใจใส่ให้คำแนะนำอย่างเป็นกันเองกับผู้ใช้ ห้องสมุดยุคใหม่ที่สามารถเผชิญหน้าและฝ่าข้ามความเปลี่ยนแปลงได้นั้นเป็นผลมาจากปัจจัยอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่ การสร้างนวัตกรรม หรือ Innovation และ ความเข้าใจแนวคิดเรื่องการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือ การพัฒนาทักษะ มิใช่การเรียนแบบศตวรรษที่ 19 และ 20 ซึ่งเน้นการสอนและท่องจำ
ส่วนบรรณารักษ์และผู้บริหารห้องสมุดนั้น เป็นเสมือนผู้นำการเปลี่ยนแปลง การมีวิสัยทัศน์เท่าทันต่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้าใจพฤติกรรมและความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้บริการในยุคดิจิทัลแล้วนั้นการสร้างนวัตกรรมห้องสมุดที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของโลกยุคใหม่ย่อมเกิดขึ้นได้จริง"
นายราเมศ พรหมเย็น, รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวเพิ่มเติมถึงวัตถุประสงค์การจัดงานว่า "ทีเคพาร์ค มีพันธกิจหลักในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ด้วยแนวคิด "ห้องสมุดมีชีวิต" เพื่อส่งเสริมให้เกิดนิสัยรักการอ่าน การแสวงหาความรู้ และการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์
การจัดประชุมวิชาการประจำปี เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการด้านการอ่าน การเรียนรู้ และการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ โดยมุ่งหวังจะทำหน้าที่เป็นเวทีสื่อกลาง เชื่อมโลกแห่งความรู้และประสบการณ์ในระดับสากล มาสู่สังคมการเรียนรู้ของไทย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและแนวคิดใหม่ ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบาย นักวิชาการ และภาคีเครือข่าย สามารถนำองค์ความรู้หรือข้อเสนอแนะ ไปปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทไทย
การประชุมวิชาการ TK Forum 2017 ในหัวข้อ "Better Library and Learning Space: Trends and Ideas" เกิดขึ้นจากการตระหนักถึงสภาพแวดล้อมในยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พฤติกรรมการแสวงหาความรู้และรูปแบบวิธีการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไป จนดูเหมือนว่าห้องสมุดกำลังมีบทบาทต่อสังคมลดน้อยลง และเกิดคำถามว่า ทำอย่างไรห้องสมุดจึงจะยังคงเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคนและสังคมได้ต่อไป"
ทั้งนี้ Highlight สำคัญของ TK Forum 2017 คือ การได้รับเกียรติจากวิทยากร 3 ท่านมาร่วมแบ่งปันความรู้ เพื่อชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มห้องสมุดและการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ในอนาคต ตลอดจนแนวคิดในการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้สร้างสรรค์ผ่านบทบาทของห้องสมุด รวมถึงตัวอย่างโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ได้รับรางวัลระดับโลก โดยใช้ห้องสมุดเป็นเครื่องมือ ได้แก่
1) มิสเตอร์ เลส วัตสัน ที่ปรึกษาด้านห้องสมุดและพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ จากสหราชอาณาจักร
ผู้มีส่วนอย่างสำคัญในการปรับปรุงห้องสมุดซัลไทเยอร์เซ็นเตอร์ มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ คาเลโดเนีย สก็อตแลนด์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนโฉมหน้าการให้บริการและการจัดสรรพื้นที่จนสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยลินคอล์น สหราชอาณาจักร
2) มิสเตอร์ ร็อบ เบราซีลส์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาห้องสมุด จากประเทศเนเธอร์แลนด์
ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรนวัตกรรมสังคมชื่อ 'กระทรวงจินตนาการ' ซึ่งมุ่งส่งเสริมการดำเนินงานห้องสมุดสร้างสรรค์ ที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดใหม่ในการออกแบบและกิจกรรมทางวัฒนธรรม เคยมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มโครงการนวัตกรรมห้องสมุด อาทิ 'ห้องสมุด 100 ความสามารถพิเศษ' ซึ่งเป็นแนวคิดการจัดทำห้องสมุดเด็กในอนาคต, 'โรงเรียนห้องสมุด' เป็นโครงการฝึกอบรมบรรณารักษ์แห่งอนาคตเพื่อให้เข้าใจและเตรียมพร้อมสู่โลกยุคใหม่ซึ่งการเรียนรู้ อาชีพการงาน และการสร้างนวัตกรรม ได้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน
3) มิสเตอร์ เจเรมี ลาชาล ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการองค์กรห้องสมุดไร้พรมแดน ประเทศฝรั่งเศส
ที่มีขอบข่ายการทำงานอยู่ใน 20 ประเทศกระจายอยู่ในทวีปยุโรป แอฟริกา ละตินอเมริกา และออสเตรเลีย มีอาสาสมัครทั่วโลกกว่า 500 คน ดำเนินกิจกรรมกระจายหนังสือไปยังผู้ขาดโอกาสและมีผู้ได้รับประโยชน์ถึงกว่า 5 ล้านคน ล่าสุดโครงการห้องสมุดเคลื่อนที่ ชื่อว่า 'กล่องความคิด' หรือ Ideas Box เพิ่งจะได้รับรางวัล WISE Awards ประจำปี 2016 จากองค์กรสุดยอดนวัตกรรมโลกด้านการศึกษา (World Innovation Summit for Education) หลังจากที่ได้รับรางวัล Google Impact Challenge มาแล้วเมื่อปีก่อนหน้า
อนึ่ง ภายในงานได้รับความสนใจเข้าร่วมการสัมมนาจากผู้เกี่ยวข้องในการพัฒนาแหล่งรู้และห้องสมุด โดยได้พัฒนารูปแบบการสัมมนาโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศผ่านการลงทะเบียนออนไลน์สำรองที่นั่งจำนวนทั้งสิ้น 430 ราย ทำให้ต้องปิดรับการลงทะเบียนก่อนกำหนด และเพื่อมิให้การเผยแพร่องค์ความรู้จากการบรรยายถูกจำกัดอยู่เพียงผู้เข้าร่วมฟังในห้องประชุมเท่านั้น เราจึงได้ดำเนินการถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊คไลฟ์เป็นอีกช่องทางหนึ่ง เพื่อจุดประกายความคิดให้เกิดการวิเคราะห์เปรียบเทียบ พัฒนา และองค์ความรู้สากล มาเผยแพร่สู่สังคมไทย เพื่อจุดประกายความคิดให้เกิดการวิเคราะห์เปรียบเทียบ พัฒนา และปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทไทย