การคาดหมายลักษณะอากาศของประเทศไทยในช่วงฤดูร้อน พ.ศ.2544 (ถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2544)

ข่าวทั่วไป Tuesday March 6, 2001 11:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--กรมอุตุนิยมวิทยา
ลักษณะทั่วไป ช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2544 เป็นช่งเปลี่ยนจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน ลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทยได้เริ่มเปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้ ตามลำดับ คาดว่า ฤดูร้อนปีนี้จะเริ่มประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ โดยลมใต้จะพัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบน (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก) เริ่มมีอุณหภูมิสูงสุด 32-35 ซํ แต่สำหรับภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนจะยังคงมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ไปจนถึงเดือนมีนาคม และตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม เป็นต้นไปหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนจะปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีอากาศร้อนโดยทั่วไป อุณหภูมิในตอนกลางวันจะสูงกว่า 35 ซํ กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ อุณหภูมิสูงสุด 40-42 ซํ ในช่วงฤดูร้อนนี้จะมีฝนตกลงมาบ้าง แต่จะมีปริมาณไม่มากนัก ส่งผลให้บางพื้นที่ของประเทศไทยตอนบนจะประสบกับการขาดแคลนน้ำที่จะใช้ในการเกษตรกรรม รวมทั้งน้ำที่จะใช้ในการอุปโภคและบริโภคได้ ประชาชนในบริเวณดังกล่าว จึงควรเตรียมการกักเก็บน้ำไว้ใช้และวางแผนการเพาะปลูกในฤดูร้อนที่จะมาถึง สภาวะความแห้งแล้วจะเริ่มบรรเทาลงเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนอีกครั้งประมาณกลางเดือนพฤษภาคม เป็นต้นไป
ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปอุณหภูมิจะเริ่มสูงขึ้นทำให้มีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ส่วนตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมเป็นต้นไปจะมีอากาศร้อนจัดเป็นบางวัน อุณหภูมิสูงสุด 40-42 ซํ ในบางพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน น่าน ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก เพชรบูรณ์ อุดรธานี มุกดาหาร ขอนแก่น และนครราชสีมา ในช่วงฤดูร้อนนี้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโอกาสที่จะเกิดพายุฤดูร้อนมากกว่าภาคอื่นๆ โดยจะมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ในบางพื้นที่จะมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกลงมาได้
ภาคกลางและภาคตะวันออก ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป อุณหภูมิจะเริ่มสูงขึ้นทำให้มีอากาศร้อนอบอ้าวกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ระหว่างเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิจะสูงขึ้นอีก ทำให้บางวันมีอากาศร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุด 40-42ซํ ได้แก่บางบริเวณของจังหวัดกาญจนบุรี ลพบุรี สระแก้วและปราจีนบุรี สำหรับช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง โดยจะมีลูกเห็บตกลงมาได้ในบางพื้นที่
ภาคใต้ ในเดือนมีนาคมและเมษายน ลมที่พัดปกคลุมจะเป็นลมใต้ ลักษณะอากาศโดยทั่วไปจะร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 33-36 ซํ ซึ่งได้แก่บริเวณจังหวัดตรัง ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สงขลา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช สภาวะฝนของภาคใต้จะเริ่มมีฝนตกเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน เป็นต้นไป โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตก เนื่องจากร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนขึ้นมาพาดผ่านภาคใต้ ประกอบกับลมที่พัดปกคลุมจะเปลี่ยนเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นการเข้าสู่ฤดูฝนก่อนภาคอื่นๆ
กรุงเทพมหานคร อากาศจะเริ่มร้อนอบอ้าวกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป และจะมีอากาศร้อนสุดในเดือนเมษายน อุณหภูมิสูงสุด 37-38 ซํ ได้ในบางวัน ช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนอาจเกิดพายุฤดูร้อนบริเวณ กรุงเทพมหานคร โดยจะมีฝนฟ้าคะนองกับมีลากระโชกแรงเป็นครั้งคราว
สรุป สภาวะอากาศของประเทศไทยในช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ. 2544 จะมีอากาศร้อนกว่าปกติเล็กน้อย และร้อนกว่าฤดูร้อนปี พ.ศ.2543 ส่วนปริมาณฝนจะใกล้เคียงกับค่าปกติ เว้นแต่ในภาตใต้จะมีปริมาณฝนสูงกว่าปกติเกือบตลอดฤดู อย่างไรก็ตามปริมาณฝนในฤดูร้อนจะไม่เพียงพอต่อการอุปโภค และบริโภค รวมทั้งการเกษตรกรรม ประชาชนและเกษตรกรจึงควรประหยัดการใช้น้ำ และวางแผนการใช้น้ำให้มีประโยชน์สูงสุด้วย
ข้อควรระวังในช่วงฤดูร้อน
พายุร้อน ในช่วงฤดูร้อนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนซึ่งเป็นอากาศเย็นและแห้งจะแผ่ลิ่มลงมาปะทะกับมวลอากาศร้อนชื้นที่ปกคลุมบริเวณประเทศไทยได้เป็นครั้งคราว ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง กับลมกระโชกแรง และบางครั้งอาจเกิดลูกเห็บตกลงมาด้วย ความเร็วลมสูงสุด 60-80 กม./ชม. ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนพืชผลทางการเกษตรได้
พายุไซโคลน ช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม อาจมีพายุไซโคลนก่อตัวขึ้นในทะเลอันดามัน และบางครั้งอาจเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้ชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันตก และด้านตะวันตกของภาคกลาง ซึ่งจะทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น เป็นผลให้ภาคใต้และภาคกลางจะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น และอาจเกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันในที่ราบลุ่มบางพื้นที่ได้
อัคคีภัยและไฟป่า ในช่วงฤดูร้อน ลักษณะอากาศบริเวรประเทศไทยจะมีความชื้นน้อยกว่าปกติซึ่งเอื้ออำนวยต่อการเกิดอัคคีภัยและไฟป่าได้ง่าย ประชาชนจึงควรระมัดระวังการใช้เชื้อเพลิงในการทำกิจกรรมต่างๆ ไว้ด้วย (ยังมีต่อ)
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ