กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย
ตราสารหนี้ออกใหม่
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์มีตราสารหนี้ที่ออกใหม่และขึ้นทะเบียนใหม่ศูนย์ซื้อขายฯ รวมทั้งสิ้น 66,500.00 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาล 14,000 ล้านบาท พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ 6,050 ล้านบาท พันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 24,000 ล้านบาท ตั๋วเงินคลัง 21,000 ล้านบาท และหุ้นกู้ภาคเอกชน 1,450 ล้านบาท
พันธบัตรรัฐบาลที่ออกใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ ได้แก่ LB157A จำนวน 4,000 ล้านบาท และในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ได้มีการประกาศออกพันธบัตรรัฐบาล LB082A วงเงิน 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.125 ต่อปี อายุ 7 ปี ซึ่งได้มีการประมูลในเดือนกุมภาพันธ์จำนวน 10,000 ล้านบาท ส่วนองค์กรรัฐวิสาหกิจได้แก่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (ETA) การประปาส่วนภูมิภาค (PWA) การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (PTT) มูลค่า 200 850 และ 5,000 ล้านบาท ตามลำดับ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้เริ่มทยอยประมูลพันธบัตรที่กระทรวงการคลังค้ำประกันอายุ 2.3 และ 5 ปี มูลค่า 8,500 9,000 และ 6,500 ล้านบาทตามลำดับ ด้านตั๋วเงินคลังในเดือนนี้หมดอายุ 39,000 ล้านบาท และมีการออกจำหน่ายใหม่ทั้งสิ้น 21,000 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นตั๋วเงินคลังรุ่นอายุ 28 วัน และอายุ 91 วัน ประเภทละ 4 รุ่นและสำหรับองค์กรภาคเอกชนที่ออกหุ้นกู้และนำมาขึ้นทะเบียนกับศูนย์ซื้อขายฯ ในเดือนนี้ ได้แก่ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFIC) 2 รุ่น และรวมมูลค่า 1,450 ล้านบาท
มูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ที่ขึ้นทะเบียนในศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย
มูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ที่ขึ้นทะเบียนในศูนย์ซื้อขายฯ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2544 มีจำนวน 482 รุ่น รวมมูลค่าทั้งสิ้น 1,320,596.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.79 จากระดับ 1,297,379.92 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมกราคม โดยในปริมาณดังประกอบด้วยพันธบัตรรัฐบาล 610,261.25 ล้านบาท (ร้อยละ 46.21) พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน 343,689.86 ล้านบาท (ร้อยละ 26.03) หุ้นกู้ภาคเอกชน 211.064.98 ล้านบาท (ร้อยละ 15.98) พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน 858,004.64 ล้านบาท (ร้อยละ 4.39) ตั๋วเงินคลัง 53,000 ล้านบาท (ร้อยละ 4.01) พันธบัตรกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 40,500 ล้านบาท (ร้อยละ3.07) และ พันธบัตรธปท.และ พันธบัตร อบส. 4,076 ล้านบาท (ร้อยละ 0.31)
ภาวะการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย
การเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลตามเส้น TBDC Government Bond Yield Curve ในเดือนกุมภาพันธ์พบว่าอัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงตลอดทุกอายุโดยระยะสั้นอายุ 1-3 ปี มีการปรับตัวลดลงสูงสุดเฉลี่ย 45-59 bp. ส่วนระยะกลางอายุ 5-7 ปี ปรับลดลง 12-31bp. และพันธบัตรระยะยาวอายุ 10-14 ปี ปรับลดลง 7-18 bp. การเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนเป็นการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงจนกระทั่งปลายสัปดาห์ที่สามจึงปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวลดลงต่อเนื่องทั้งเดือน ส่งผลให้เมื่อพิจารณาภาวะความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั้งเดือนกุมภาพันธ์แล้ว พันธบัตรระยะสั้นปรับลดลงมากกว่าพันธบัตรระยะยาว
ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ที่มีการรายงานต่อศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทยในเดือนกุมภาพันธ์มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าถึงร้อยละ 22.47 โดยมีมูลค่าทั้งสิ้น 204.975.72 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 10,788.20 ล้านบาท สร้างสถิติปริมาณการซื้อขายรายเดือนสูงสุดอีกครั้งต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นธุรกรรมเป็นการซื้อขายจริง (Outright Transaction) มูลค่า 198,724.40 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 96.95 และธุรกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการกู้ยืม และอื่น ๆ (Financing and Other Transaction) มูลค่า 6,251.32 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.05 ของปริมาณการซื้อขายรวม การซื้อขายส่วนใหญ่ยังคงให้น้ำหนักที่พันธบัตรรัฐบาลสัดส่วนร้อยละ 73.40 รองลงมาเป็นกลุ่มพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินร้อยละ 11.07 ตั๋วเงินคลังร้อยละ 6.53 พันธบัตรรัฐวิสาหกิจร้อยละ 6.52 และหุ้นกู้ภาคเอกชนร้อยละ 2.47
สำหรับตราสารหนี้ที่มีการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรกในแต่ละประเภทตราสารหนี้ ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มพันธบัตรรัฐบาลได้แก่ LB08DA LB113A พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ EGAT106A EGAT127A และ PTT092A หุ้นภาคเอกชนได้แก่ NF#2 TFB#1 และ TAC05OA สำหรับสภาพคล่องการซื้อขายตราสารหนี้กลุ่มต่าง ๆ โดยวัดจากอัตราการเปลี่ยนมือการซื้อขาย (Turnover Ratio) นั้น พบว่า ตราสารที่มีการซื้อขายสูงสุดของแต่ละกลุ่มข้างต้นโดยส่วนใหญ่จะมีสภาพคล่องการซื้อขายสูงสุดเช่นกัน
หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายประเภท Outright Transaction จะพบว่าสัดส่วนการซื้อขายในเดือนกุมภาพันธ์เป็นธุรกรรมการซื้อขายในกลุ่มสถาบันการเงินซึ่งมีใบอนุญาตค้าตราสารหนี้ (Interdealer Transaction) คิดเป็นมูลค่า 73,774.05 ล้านบาท หรือร้อยละ 37 ของปริมาณการซื้อขายรวม ในขณะที่เป็นธุรกรรมซื้อขายระหว่างสถาบันการเงินที่มีใบอนุญาตกับผู้ลงทุนประเภทต่าง ๆ (Dealer to Client Transaction) 124,950.35 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63 ของปริมาณการซื้อขายรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่มีสัดส่วนร้อยละ 57
ธุรกรรมการซื้อขายระหว่างสถาบันการเงินที่มีใบอนุญาตและผู้ลงทุนประเภทต่าง ๆ นั้น แบ่งเป็นธุรกรรมกับผู้ลงทุนในกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้ กลุ่มสถาบันการเงินที่ไม่มีใบอนุญาตค้าตราสารหนี้ร้อยละ 49.72 กลุ่มกองทุนรวมร้อยละ 21.96 กลุ่มกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ร้อยละ 16.67 กลุ่มบริษัทประกันภัยร้อยละ 7.47 กลุ่มนักลงทุนอื่น ๆ ร้อยละ 4.03 และกลุ่มบริษัทต่างประเทศร้อยละ 0.15 โดยสัดส่วนการซื้อขายของกลุ่มสถาบันการเงินที่ไม่มีใบอนุญาตค้าตราสารหนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกลุ่มบริษัทต่างปะเทศมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม--จบ--
-อน-