อย.ชี้แจงกรณีขนมเยลลี

ข่าวทั่วไป Thursday August 23, 2001 13:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--อย.
อย. เตือนตัวขนมเยลลี แม้ผลิต นำเข้าถูกต้อง แต่ต้องระวังวิธีการกินของเด็ก เพื่อป้องกันอันตราย พร้อมย้ำผลิตภัณฑ์เยลลีต้องมีฉลาก และแสดงคำเตือนด้วย หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษตามกฎหมาย
นพ.วิชัย โชควิวัฒน เลขธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนมีการเสนอข่าวในวันที่ 18 สิงหาคม 2544 เกี่ยวกับร้านค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกาสั่งห้ามจำหน่ายขนมเยลลี เนื่องจากขนมเยลลีบางชนิดเป็นสาเหตุทำให้เด็ก 3 ขวบรายหนึ่งเสียชีวิตเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2543 และอีกรายหนึ่งเป็นเด็ก 12 ขวบเสียชีวิตในเดือนกรกฎาคม 2544 เพราะไม่สามารถนำขนมเยลลีที่เหนียวติดคอออกจากคอของเด็กทั้งสองได้นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการตรวจสอบการนำเข้าขนมเยลลีดังกล่าว พบว่า มีการนำเข้าขนมเยลลีจากแหล่งผลิตเดียวกันกับที่เป็นข่าว แต่ทั้งนี้การนำเข้าฯ ได้รับอนุญาตใบสำคัญการใช้ฉลากจาก อย.อย่างถูกต้อง ซึ่งขนมเยลลีจัดเป็นอาหารที่ต้องมีฉลาก การพิจารณาอนุญาตจะดูส่วนประกอบเพื่อกำหนดให้มีการแสดงคำเตือนบนฉลากให้เหมาะสม สำหรับสูตรส่วนประกอบของขนมเยลลีจากแหล่งผลิตที่กล่าวถึง มีส่วนประกอบหลักประกอบด้วยน้ำ น้ำตาล น้ำผลไม้ วัตถุแต่งกลิ่นรส กรดมะนาว ส่วนที่ทำให้เกิดเจล ได้แก่ สาหร่ายคาราจีแนน และหัวบุกซึ่งเป็นใยอาหารชนิดหนึ่ง อย.พิจารณารายละเอียดแล้วกำหนดให้มีคำเตือนสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่า "เด็กและสตรมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน" ด้วยตัวอักษรสีแดง ขนาดไม่น้อยกว่า 5 มม. ในกรอบพื้นสีขาว เพราะการรับประทานใยอาหารในปริมาณมากอาจมีผลให้ผู้บริโภคเกิดอาการท้องอืด รับประทานอาหารอื่นได้น้อย และอาจขัดขวางการดูดซึมเกลือแร่บางชนิดอีกด้วย จึงไม่เหมาะสำหรับเด็กและสตรีมีครรภ์ ส่วนวุ้นสำเร็จรูปทั่วไปที่ไม่มีส่วนผสมของใยอาหารให้ระบุคำเตือนว่า "เด็กควรรับประทานแต่น้อย" ด้วยตัวอักษรสีแดงขนาดไม่น้อยกว่า 5 มม. ในกรอบพื้นสีขาว
ขณะนี้ อย.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตามสถานที่จำหน่ายว่ามีการแสดงฉลากถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ หากพบการกระทำฝ่าฝืนจะดำเนินกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งมีบทลงโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้ปกครองที่มีเด็กให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อและบริโภคอาหารแต่ละชนิด ต้องอ่านคำเตือนบนฉลากให้ ถี่ถ้วนและใส่ใจดูแลในการบริโภคอาหารของเด็กให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าความเสี่ยงหรืออันตรายที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากวิธีการบริโภค เนื่องจากขนมเยลลี่บรรจุอยู่ในถ้วยพลาสติกขนาดเล็ก เช่น การนำถ้วยพลาสติกเข้าปากก่อนแล้วบีบถ้วยพลาสติกเพื่อให้ขนมหลุดออกจากถ้วยฯ ซึ่งวิธีดังกล่าว จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการลื่นหลุดของชิ้นอาหารเข้าสู่หลอดลมโดยตรงได้ง่ายและก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรแนะนำวิธีการบริโภคแก่เด็กให้เหมาะสม เช่น บีบขนมออกจากถ้วนก่อนนำเข้าปากและเคี้ยวอาหารก่อนกลืน เป็นต้น จะเป็นการป้องกันอันตรายได้อีกวิธีหนึ่ง--จบ--
-นห-

แท็ก ฉลาก   ขนม   อย.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ