กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--กรมทรัพย์สินทางปัญญา
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยกรณีสภาหอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce) โดยศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาโลก (Global Intellectual Property Center: GIPC)ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Index) ที่มีผลต่อนวัตกรรม ประจำปี ๒๕๖๐ ที่จัดให้ไทยอยู่จัดอันดับที่ ๔๐ จากประเทศที่ถูกจัดอันดับทั้งสิ้น 45 ประเทศ โดยไทยได้รับคะแนน ๙.๓๕ คะแนน จากคะแนนเต็ม ๓๕ คะแนน สรุปได้ว่า การจัดอันดับดังกล่าวเป็นการประเมินความพึงพอใจของกลุ่มภาคเอกชนสหรัฐฯ เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น มิได้มาจากการประเมินของผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน
นายทศพลฯ ยืนยันว่าไทยได้ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรฐานสากลตามความ ตกลงทริปส์ (TRIPS) ขององค์การการค้าโลก (WTO) แล้ว แต่ GIPC กำหนดตัวชี้วัดบางรายการสูงกว่ามาตรฐานดังกล่าว เช่น การชดเชยระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร การผูกขาดข้อมูลการทดสอบยา และการเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศต่างๆ เป็นต้น ทำให้ไทยได้คะแนนต่ำในบางหัวข้อ นอกจากนี้ในส่วนการบังคับใช้กฎหมาย GIPC ระบุว่าไทยยังไม่มีกฎหมายป้องปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นสินค้าผ่านแดนและสินค้าผ่านลำเรือ (transit/transshipment goods) ซึ่งเป็นเรื่องที่ GIPC เข้าใจผิด เพราะไทยได้แก้ไข พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรในการตรวจจับผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นสินค้าผ่านแดนและผ่านลำเรือ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีหนังสือแจ้งสภาหอการค้าสหรัฐฯ และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ให้ทราบความเข้าใจผิดดังกล่าวแล้ว
อย่างไรก็ดี ในการจัดอันดับครั้งนี้ GIPC ตระหนักถึงพัฒนาการของไทยในด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา การป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และความโปร่งใสของศุลกากร และเห็นว่าไทยมีจุดแข็งเช่น ด้านมาตรฐานการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า และสิทธิบัตรการออกแบบ การกำหนดระยะเวลาการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และการไม่มีข้อจำกัดในเรื่องการใช้ประโยชน์จากตราสินค้า เป็นต้น ทำให้ในปีนี้ไทยได้รับคะแนนการประเมินเป็นร้อยละดีกว่าปี ๒๕๕๙ (จากร้อยละ ๒๕ ในปี 2559 เป็นร้อยละ ๒๗ ในปี 2560)
อนึ่ง เนื่องจากตัวชี้วัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาของ GIPC เป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น มิใช่อยู่ภายใต้กรมทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเดียว ในการนี้ไทยจำเป็นต้องมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การดำเนินงานมีความสอดคล้องและแสดงภาพลักษณ์การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ดีให้เป็นที่ประจักษ์ต่อไป
สำหรับการดำเนินการของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ขณะนี้อยู่ระหว่างการปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญาหลายด้าน ที่สำคัญได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพในการจดทะเบียนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การส่งเสริมการสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา และการทบทวนกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิเช่น การปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ซึ่งนอกจากจะปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียนสิทธิบัตรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเตรียมการเพื่อเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (Hague Agreement) แล้ว ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing: CL) ของไทย เพื่ออนุวัติการตามความตกลง TRIPS ที่แก้ไขและมีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 โดยผ่อนปรนให้ประเทศสมาชิก WTO สามารถใช้มาตรการ CL เพื่อส่งออกยาไปยังประเทศอื่นที่ขาดแคลนแต่ไม่มีศักยภาพที่จะผลิตยาด้วยตนเองได้