กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
EF หรือ Executive Function คือทักษะความคิดของสมองส่วนหน้าที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้ปกครองและหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน เพราะเด็กที่มีทักษะ EF จะรู้จักการยับยั้งชั่งใจต่อสิ่งยั่วเย้าที่ไม่ดี สามารถบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ในชีวิตได้ดี คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ส่งผลให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในอนาคตสูง ซึ่งการพัฒนา EF ให้เด็ก ต้องสร้างผ่านการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำจริง
เฉกเช่นความเชื่อของโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่เชื่อว่า "การเรียนรู้ที่ดีที่สุดเกิดจากการลงมือทำ" จึงเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนในภาคตะวันตก (สมุทรสงคราม เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี) ได้เรียนรู้ประสบการณ์จริงที่หลากหลายจากการทำCommunity Project หรือโครงการที่เป็นโจทย์ของชุมชนมาเป็นเวลากว่า 2 ปี โดยมีผู้ใหญ่ในชุมชนจากหลายภาคส่วน อาทิ สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคประชาสังคม รับบทบาท "โคช" ที่ไม่ได้ทำหน้าที่สอน แต่คอยเอื้ออำนวย และหนุนเสริมคำแนะนำ
ผลลัพธ์ทั้งหมดของการทำโครงการในปีที่ 2 จำนวน 24 โครงการ เยาวชนกว่า 100 ชีวิต จาก 4 จังหวัด ได้ถูกถ่ายทอดออกมาในงานมหกรรมพลังเด็กและเยาวชนภาคตะวันตกปี 2 "ก้าวกล้า การศึกษา เพื่อสร้างพลเมือง ตามรอยเท้าพ่อ" เพื่อชักชวนเด็กและเยาวชนที่ทำโครงการให้ก้าวข้ามกรอบการนำเสนอที่เป็นตัวหนังสือจำนวนมากบนกระดาษ โดยแบ่งโครงการทั้งหมดออกเป็น 5 โซนการเรียนรู้ตามประเด็นโครงการที่ใกล้เคียงกัน อันจะช่วยฝึกให้เด็กๆ เรียนรู้การทำงานเป็นทีมกับเพื่อนต่างโครงการ และฝึกฝนความกล้าในการถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ สู่สังคม ผลจากการคิดแบบไร้กรอบเช่นนี้ ทำให้แต่ละโซนสร้างสรรค์กิจกรรมของตัวเองออกมาได้อย่างน่าสนใจ
โซนที่ 1 เส้นทางสู่อาสาสมัคร นำเสนอในรูปแบบการรับฟังเหล่าเยาวชนบอกเล่ารายละเอียดแต่ละโครงการ แล้วให้ผู้เยี่ยมชมร่วมแบ่งปันเรื่องราวการอาสาทำกิจกรรมเพื่อสังคม การวัดความดันให้ผู้เยี่ยมชมจากทีมที่เข้าไปดูแลผู้สูงอายุ ชิมไอศกรีมนมแพะซึ่งเป็นผลิตผลของการช่วยพัฒนาอาหารแพะจนได้แพะที่แข็งแรง นมมีคุณภาพและการชวนผู้เยี่ยมชมคิดแล้วเขียนว่าเกิดแรงบันดาลใจที่อยากไปทำงานอาสาสมัครอะไรต่อ
โซนที่ 2 ศิลปวัฒนธรรม ชวนชมการสาธิตและลงมือทำ การแกะหนังใหญ่ การรำไทย การสานตะกร้า และทำความรู้จักกับ "จุ๊เมิญ" ประเพณีเก่าแก่ของชาวไทยมอญที่ยังคงสืบสานโดยลูกหลานชาวมอญจนถึงปัจจุบัน ซึ่งน้อยคนนักจะรู้จักประเพณีนี้
โซนที่ 3 ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรียนรู้การย้อมผ้าจากต้นจาก การสาธิตผ่าลูกจากให้ทดลองชิม การดูแลส้มแก้วซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นสมุทรสงคราม เรียนรู้สมุนไพรและพืชพันธุ์ท้องถิ่นในภาคตะวันตก และเดินลอดอุโมงค์วงกตเพื่อเข้าไปรู้จักป่าเขายอดแดง ผืนป่าชุมชนที่ยังอุดมสมบูรณ์ของหมู่บ้านหนองพลับ จ.ประจวบคีรีขันธ์
โซนที่ 4 บอกเล่าถึงน้ำตาลมะพร้าว ภูมิปัญญาด้านอาชีพของชาวสมุทรสงคราม ผ่านแกลลอรี่ภาพถ่ายกรรมวิธีการขึ้นต้นมะพร้าว ขั้นตอนทำน้ำตาล และชมการสาธิตทำน้ำตาลมะพร้าวของจริง พร้อมชิมรสน้ำตาลมะพร้าวแท้สดจากเตาตาล
โซนที่ 5 การจัดการน้ำ ที่นำเสนอในหลายมิติเกี่ยวกับการใช้น้ำ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอกำจัดกลิ่นน้ำทิ้ง การสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของน้ำผ่านการเล่นเกมเพื่อชิงรางวัลผักและผลไม้ปลอดสาร อันเป็นผลผลิตจากการบริหารจัดการน้ำได้มีประสิทธิภาพ และการทำความเข้าใจกระบวนการทำฝนหลวงให้มากขึ้นผ่านโมเดลจำลอง
และนี่คือภาพความสำเร็จของโครงการต่างๆ ที่เด็กและเยาวชนใน 4 จังหวัดภาคตะวันตกเข้าไปช่วยแก้ปัญหาบ้านเกิด พัฒนายกระดับสิ่งที่มีในชุมชน และปลุกภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จัก จนสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมถูกนำเสนอในงานมหกรรมครั้งนี้ แต่ผลลัพธ์ที่ดียิ่งกว่าคือความเปลี่ยนแปลงของเด็กและเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด จากเคยกลัวๆ กล้าๆ ที่จะบอกเล่าหรือตอบคำถามจากวันแรกที่มาร่วมโครงการ กลับกลายเป็นการยืนพูดด้วยความมั่นใจต่อหน้าผู้คนมากมาย เดิมชอบอยู่บ้านเฉยๆ วันนี้กลับชอบที่จะสุมหัววางแผนทำงานร่วมกับเพื่อนและสนุกที่ได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้งานผ่านไปด้วยดี หรือเมื่อก่อนแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับบ้านเกิดเลย แต่วันนี้ทุกคนสามารถตอบทุกข้อสงสัยของผู้เข้าชมงานอย่างชัดเจน และจากที่เคยใช้ชีวิตอยู่แค่ระหว่างบ้านกับโรงเรียน เด็กและเยาวชนเหล่านี้กลับเริ่มรู้สึกรู้สากับความเป็นไปของชุมชน เป็นเดือดเป็นร้อนกับปัญหาที่เข้ามา และต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาบ้านเกิดของพวกเขาเอง
แป้ง-ศิริพร บุญมาก นักศึกษา ปวส.1 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี หนึ่งในเยาวชนจากโครงการพลังเด็กและเยาวชน ที่เลือกทำโครงการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนบ้านหนองโบสถ์ จ.ราชบุรี เล่าถึงความสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองหลังมาเข้าร่วมโครงการว่า "เมื่อก่อนเราแค่ต้องการเรียนให้จบเพื่อไปทำงานในสถานประกอบการเท่านั้น แต่พอเข้าร่วมโครงการนี้ แล้วได้เรียนรู้ชุมชน ทำให้รู้สึกว่าตัวเรามีคุณค่ามากขึ้น เพราะสามารถจัดการชีวิตส่วนตัวและการเรียนได้ดีกว่าเดิม ทำงานเป็นทีมร่วมกับเพื่อน กล้าที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานกับชุมชน และอยากจะร่วมสร้างสำนึกพลเมืองแก่เพื่อนๆ และคนในชุมชนต่อไป"
เช่นเดียวกับ หม่ำ-ธุรกิจ มหาธีรนนท์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการตลาด คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ที่ทำโครงการปลาอกกะแร้จากต้นน้ำทางปัญญาสู่มูลค่าทางตลาดเรื่องเล่าชาวประมง เพื่อช่วยสร้างรายได้แก่ชาวประมงที่บ้านโตนดน้อย จ.เพชรบุรี ให้มากขึ้น บอกถึงข้อดีของการเข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯที่เขาค้นพบว่า "การเข้ามาทำโครงการนี้ ทำให้ผมได้ความรู้ที่มากกว่าในห้องเรียน ทั้งการเรียนรู้ชุมชนและวิถีชีวิตผู้คน ช่วยฝึกทักษะการเข้าหาผู้คน กระบวนการทำงาน และการวางแผน แตกต่างจากชีวิตเดิมที่แค่อาจเรียนจบ รับปริญญา แล้วหางานทำ ขณะเดียวกันก็ได้นำความรู้จากห้องเรียนไปใช้ประโยชน์ในการทำกิจกรรม เช่น การวิเคราะห์ SWOTที่ได้ใช้ทั้งหาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค จนทำให้เข้าใจวิชาที่เรียนมากขึ้น และได้คำตอบว่า เรียนไปทำไม"
ด้านคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามกล่าวว่า การพัฒนาเด็กและเยาวชนถือว่าเป็นภารกิจสำคัญที่ผู้ใหญ่ต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรม ผ่านการสนับสนุนการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แก่ส่วนรวม เพื่อพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชน และกระตุ้นเตือนให้เด็กและเยาวชนเห็นถึงความสำคัญของการช่วยเหลือสังคม ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมประเพณี รวมถึงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งนำไปสู่การเกิดสำนึกความเป็นพลเมืองในที่สุด
"การจัดงานในวันนี้เพื่อนำผลงานของเยาวชนเยาวชนที่ได้ลงมือทำร่วมกับชุมชนจนเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรม ได้สะท้อนถึงพลังพลเมืองของเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งทำให้ผมคิดว่าโครงการนี้ดำเนินงานมาถูกทาง และการมีส่วนร่วมไม่ใช่เพียงเด็กและเยาวชนเท่านั้น ผู้ใหญ่ก็สามารถมาร่วมส่งเสริมให้ลูกหลานของเรายืนหยัดในสังคมภายหน้าอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนได้ แต่พวกเราต้องช่วยกัน ผมยินดีจะเปิดรับแนวคิดและข้อมูลจากทุกคน เพื่อสานต่อหรือประสานงานให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปต่อยอดต่อไป"
การพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยการเปิดโอกาสให้ลงมือทำจริงคือ กระบวนการเรียนรู้ที่กำลังค่อยๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะผลที่เกิดขึ้นกับเด็กไม่ใช่แค่ความรู้ในตำราเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้าง "ทักษะชีวิต" ที่สอนให้เด็กเยาวชน "คิดเป็น ทำเป็น" ซึ่งเป็นฐานทุนสำคัญให้พวกเขานำไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตต่อไป