กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--มหาวิทยาลัยนเรศวร
จากการแสดงแสง สี เสียง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในงาน "ย้อนรอยพระราชวังจันทน์ สร้างสรรค์เมืองพิษณุโลกสองแคว" เมื่อ ๕ ปีที่แล้ว ซึ่งจัดโดยสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน ร่วมกับ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นำมาสู่การปรับ ประยุกต์ พัฒนา กลายเป็นหุ่นกระบอกตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่พร้อมจัดแสดงในงานเทศกาลหุ่นโลก ๒๐ – ๒๖ กุมภาพันธ์นี้ ณ จังหวัดกาญจนบุรี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าถึงที่มาว่า "นิสิตร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์เผยแพร่สู่บุคคลภายนอก เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น จากการศึกษาสื่อต่าง ๆ ในที่สุดนิสิตชมรมประวัติศาสตร์ได้นำความรู้ด้านประวัติศาสตร์มาผนวกกับหุ่นกระบอก เพื่อให้เข้าถึงคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนคนรุ่นใหม่"
ความร่วมสมัยคืออีกหนึ่งโจทย์สำคัญ จากหุ่นกระบอกธรรมดาที่มีรูปทรงและการแต่งกายแบบโบราณ ได้นำศิลปะสมัยใหม่เข้ามาสร้างลวดลาย สีสัน แนวใหม่ พร้อมด้วยกลไกพิเศษทำให้เกิดกระบวนการหมุนหรือเชิดหุ่นซึ่งเด็กรุ่นใหม่สามารถประดิษฐ์เองได้ เชิดเองได้
"หุ่นกระบอกนี้นำรูปแบบมาจากหุ่นกระบอกของจีนไหหลำที่เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย โดยทางนิสิตชมรมประวัติศาสตร์ช่วยกันคิด ใช้เวลากว่า ๒ ปี ตั้งแต่การสร้างหุ่นขึ้นมาใหม่ รวมถึงประดิษฐ์หนังใหญ่มาผสมผสาน ทำดนตรี เขียนบท และคิดรูปแบบการแสดงขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยนำเสนอเรื่องราวตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จำนวน ๒ ตอนคือ นเรศวรราชาธิราชเจ้าและสุบินราชาหงสาพ่าย เพื่อเทิดพระเกียรติและให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ง่ายและเห็นภาพอย่างชัดเจน" นางยงยศ ชูชีพ ศิษย์เก่าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าถึงกระบวนการ
ด้านนายกิตติศักดิ์ สีมูล นิสิตชมรมประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หนึ่งในทีมงาน กล่าวว่า "การแสดงหุ่นกระบอกตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีทั้งหมดกว่า ๓๐ ชีวิต โดยได้ร่วมซ้อมมานานกว่า ๕ เดือนแล้ว ความยากของการแสดงคือ ทำอย่างไรให้การเชิดหุ่นดูสวยงามและให้ผู้ชมคล้อยตามไปกับบรรยากาศการแสดง"
"เรื่องราวเหล่านี้จะนำไปสู่การเผยแพร่ในวงกว้างขึ้น และเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจากตำราจะกลายเป็นเรื่องราวทีมีชีวิต และง่ายกว่าการแสดงแสงสีเสียงต่าง ๆ เพราะหุ่นกระบอกเหล่านี้สามารถยกและเคลื่อนย้ายไปสอนตามโรงเรียนและที่ต่าง ๆ ได้ ที่ผ่านมาเราได้ไปจัดแสดงที่งานถนนคนเดิน วัดราชบูรณะ จังหวัดพิษณุโลก ในตอนนี้ เราฝึกฝนเพื่อที่จะไปแสดงที่งานเทศกาลหุ่นโลกก่อน แล้วหลังจากนั้นก็จะมีงานจัดแสดงที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และที่รัชดาลัยเธียเตอร์ แล้วก็มีอีก ๑๖ โรงเรียนที่จองคิวเข้ามาเพื่อให้ไปนำเสนอและเผยแพร่การเชิดหุ่น รวมไปถึงการประดิษฐ์หุ่น กลไกสำคัญนอกจากการทำหุ่นแล้วยังมีการคิดค้นวิธีการแบบโบราณมาปั้นแบบใหม่ทำให้ง่ายขึ้น เด็กรุ่นใหม่สามารถที่จะปั้นโดยใช้วัสดุเหลือใช้ และแกะสลักจากเศษไม้เศษขี้เลื่อยต่าง ๆ ผสมกันแล้วปั้นขึ้นมา ทั้งยังสามารถเขียนลายอนุรักษ์ภูมิปัญญาได้ด้วยกลไกสมัยใหม่ ทำให้เด็ก ๆ สมัยใหม่สามารถที่จะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและง่ายขึ้นกว่าวิธีการแบบดั้งเดิม" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล กล่าวทิ้งท้าย
หุ่นกระบอกตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงไม่ได้เป็นเพียงการเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทยในรูปแบบใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นกลวิธีในการอนุรักษ์และส่งต่อภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมไทยสู่คนรุ่นต่อไปได้ภาคภูมิใจ เข้าใจ และสนุกกับการคิดสร้างสรรค์และสืบสานต่อไป