กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--เอ็กซ์ตราวาแกนซ่า พีอาร์
เปิดบ้าน "สถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี สานพลังประชารัฐ" ตัวแทนภาคตะวันออก ผนึกกำลัง บางกอกแอร์เวย์ส และ เอสซีจี เผยศักยภาพโดดเด่น เน้นความเป็นเลิศทุกด้าน
คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (E2: Competitive Workforce) เร่งเครื่องเต็มสูบ จัดกิจกรรมโรดโชว์ "สถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี สานพลังประชารัฐ" หรือ "Excellent Model School" ทั่วทุกภูมิภาค ล่าสุดถึงคิวของตัวแทนภาคตะวันออกอย่าง "วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ" ที่จับคู่กับภาคเอกชนยักษ์ใหญ่ถึง 2 บริษัทอย่าง "บางกอกแอร์เวย์ส" และ "เอสซีจี" ลุยเปิดโลกยกระดับการเรียนอาชีวะให้แข็งแกร่งเป็นเลิศ ในสาขาช่างอากาศยาน สาขาเมคคาทรอนิกส์ และสาขาเครื่องมือวัดและควบคุม พร้อมเปลี่ยนสถานประกอบการเป็นโรงเรียน ฝึกทักษะและประสบการณ์ผ่านการปฏิบัติงานจริง สร้างความมั่นใจในการเรียนอาชีวะให้เยาวชนรุ่นใหม่
นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานการจัดงานโรดโชว์เปิดบ้านสถานศึกษาในโครงการ "สถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี สานพลังประชารัฐ" หรือ "Excellent Model School" ตัวแทนภาคตะวันออก พร้อมด้วย นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ และภาคเอกชน ได้แก่ นายทองสุข ชมภูนุช รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายช่างซ่อมบำรุง บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ นายมงคล เฮงโรจนโสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาบตาพุด โอเลฟินส์ จำกัด ในกลุ่มเอสซีจี เคมิคอลส์ รวมทั้งภาคสถานศึกษาโดย นายศักดิ์ชัย ธีระประทีป ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ โดยมี นายภวัต เลิศมุกดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ให้การต้อนรับ นอกจากนี้ ยังมีนักเรียน ผู้ปกครอง และผู้ที่สนใจศึกษาต่อในสายอาชีวศึกษา เข้าร่วมชมงานอย่างคับคั่ง ณ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จ.ชลบุรี
สำหรับกิจกรรมโรดโชว์เปิดบ้านสถานศึกษาโครงการ "สถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี สานพลังประชารัฐ" หรือ "Excellent Model School" ตัวแทนภาคตะวันออกในครั้งนี้ เป็นการผนึกกำลังของ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ที่จับคู่กับ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบางกอก แอร์เวย์ส และ เอสซีจี โดย เอสซีจี เคมิคอลส์ เพื่อนำเสนอการพัฒนาสถานศึกษาด้านอาชีวศึกษา ให้มีความโดดเด่นเป็นเลิศและเชี่ยวชาญใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาช่างอากาศยาน สาขาเมคคาทรอนิกส์ และสาขาเครื่องมือวัดและควบคุม ซึ่งล้วนแต่เป็นสาขาที่มีความสำคัญ สอดคล้องกับความต้องการของภาคสถานประกอบการและอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
โดยภายในงาน ได้มีการจัดแสดงนิทรรศการ 3 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 Excellent Model School นำเสนอความเป็นมาของโครงการสถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี สานพลังประชารัฐ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ของผู้เรียน และความร่วมมือของแต่ละวิทยาลัย
กับสถานประกอบการ ส่วนใน โซนที่ 2 School นั้น ได้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ซึ่งเป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รางวัลมาแล้วทั้งสิ้น เช่น เครื่องควบคุมการปิด-เปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าผ่านโทรศัพท์มือถือ เครื่องออกบัตรคิวและตรวจสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ ป้ายแจ้งเตือนฉุกเฉิน และเครื่องช่วยพยุงร่างกายของเด็ก เป็นต้น รวมทั้งยังจัดแสดงการจัดการเรียนสัตหีบโมเดลของวิทยาลัย ที่เน้นการเรียนจริง รู้จริง และทำจริง โดยความร่วมมือกับสถานประกอบการ สุดท้ายใน โซนที่ 3 สถานประกอบการ เป็นการนำเสนอข้อมูลการดำเนินการที่ทางสถานประกอบการเข้าไปร่วมส่งเสริมความเป็นเลิศกับสถานศึกษา ได้แก่
• สาขาช่างอากาศยาน โดย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่นอกจากผู้เรียนจะได้เรียนในหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ (English Program) ) และได้มีการพัฒนาเนื้อหารายวิชาให้สอดคล้องกับมาตรฐาน EASA (European Aviation - Safety Agency) โดยพิจารณาจากหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้สอดคล้องและรองรับสภาพการปฏิบัติงานจริงในสาขาอาชีพแล้ว ผู้เรียนยังจะได้เรียนและลงมือฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการจริง และมีผู้เชี่ยวชาญด้านซ่อมบำรุงอากาศยาน จากบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เข้ามาช่วยสอน พร้อมด้วยเครื่องมือการเรียนการสอนที่ทันสมัย ทั้งยังมีรายได้ระหว่างเรียน พร้อมโอกาสในการเติบโตทางอาชีพเมื่อสำเร็จการศึกษา
• สาขาเมคคาทรอนิกส์ และสาขาเครื่องมือวัดและควบคุม โดย เอสซีจี เคมิคอลส์ ที่ผู้เรียนจะได้เรียนรู้กระบวนการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการทำงานจริงของสถานประกอบการ เช่น หุ่นยนต์ไต่ผนัง หรือดำน้ำ สำหรับสาขาเมคคาทรอนิกส์ และคอนโทรล วาล์ว ทรานสมิตเตอร์ สำหรับสาขาเครื่องมือวัดและควบคุม เป็นต้น รวมทั้งยังส่งเสริมการเรียนรู้ในเชิง Soft Side เน้นการเรียนรู้และใช้ทักษะภาษาอังกฤษในการทำงาน ตลอดจนการเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน ผ่านการรับผิดชอบโปรเจ็กต์ที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะทำงานอย่างมีคุณภาพจากบุคลากรผู้เชี่ยวชาญของบริษัท อีกทั้งยังมีการเสริมความพร้อมในการพัฒนาบุคลากรทั้งคณาจารย์ของสถานศึกษาและครูพี่เลี้ยงจากสถานประกอบการ ให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาอย่างเข้มข้น และมีเทคนิคในการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียนในภาคอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ โครงการ "สถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี สานพลังประชารัฐ" มีสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเข้าร่วมทั้งสิ้น 46 แห่งทั่วประเทศ โดยมี 28 สาขาวิชาที่เปิดสอน และมี 14 องค์กรเอกชนชั้นนำให้การสนับสนุน ได้แก่ บมจ.การบินกรุงเทพ, บมจ.ช.การช่าง, บจก.ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี, บมจ.ซีพี ออลล์, บจก.น้ำตาลมิตรผล, บมจ.เบทาโกร, เอสซีจี, บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, บจก.ฤทธา, บจก.สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น, บจก.สรรพสินค้าเซ็นทรัล, บมจ.ไออาร์พีซี, บมจ.ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล และ บจก.ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย)
สำหรับคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ถือเป็นฟันเฟืองที่สอดประสาน บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคการผลิตผู้เรียนอาชีวศึกษากับทุกภาคส่วน ซึ่งมีกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และภาคเอกชนจากกลุ่มธุรกิจต่างๆ 16 บริษัทร่วมเป็นคณะทำงาน โดยมีการทำงานแบบคู่ขนาน 4 ด้าน ประกอบด้วย
1.) การจัดเรียงความต้องการของภาคเอกชน
2.) การพัฒนาบุคลากรรองรับ
3.) การขับเคลื่อนระยะแรก ซึ่งประกอบไปด้วย 3 เรื่องเร่งด่วน คือ การปรับภาพลักษณ์อาชีวศึกษา โดยการดำเนินงานของ บจก.สรรพสินค้าเซ็นทรัล การพัฒนาข้อมูลกำลังคน โดยการดำเนินงานของ บมจ.ไออาร์พีซี และการสร้างความเป็นเลิศให้กับสถานศึกษาอาชีวศึกษาต้นแบบ โดยการดำเนินงานของ บจก.ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย)
4.) แผนระยะกลางและระยะยาว ด้วยการสร้างมาตรฐานวิชาชีพ โดยการดำเนินงานของ บจก.น้ำตาลมิตรผล
ผู้สนใจสามารติดตามกิจกรรม หรือรายละเอียดความคืบหน้าของ โครงการ "สถานศึกษาต้นแบบทวิภาคีสานพลังประชารัฐ" (Excellent Model School) สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.vec.go.th