กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--มรภ.สงขลา
"ความมีจิตอาสาของทุกคน อาจารย์ซึ้งน้ำใจมากอยู่แล้ว โครงการนี้จึงจะไม่มีการเช็คชื่อใดๆ ไม่บังคับ ไม่มีการลงโทษ ดังนั้น เราจะร่วมด้วยช่วยกันอย่างเป็นสุข"
ข้อความข้างต้นถูกส่งจาก "อ.ยุ้ย" หรือ ดร.มุจลินทร์ ผลกล้า อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ให้กับนักศึกษาในไลน์กลุ่มของ "โครงการห้องสมุดของเล่นต้นแบบ สร้างสรรค์พลังพัฒนาการ" ในช่วงแรกๆ ที่มีการจัดตั้งโครงการนี้ขึ้นมา ซึ่งก็เป็นอย่างที่ อ.ยุ้ย หัวเรือใหญ่ของโครงการกล่าวไว้จริงๆ
หลายท่านคงกำลังสงสัยว่า พวกเราเป็นใคร และกำลังทำอะไรกัน พวกเราคือ "กลุ่มพลังจิตอาสา" จำนวนหนึ่งจากโปรแกรมวิชาภาษาไทย มรภ.สงขลา ที่รวมตัวกันทำโครงการที่มีชื่อว่า ห้องสมุดของเล่นต้นแบบ สร้างสรรค์พลังพัฒนาการ สมาชิกในกลุ่มส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมทั้งน้องปี 1 และพี่จากครุศาสตร์เข้ามาแจมด้วย รวมๆ แล้วมีกันอยู่ประมาณ 20 กว่าชีวิต ขณะที่ในส่วนของอาจารย์นั้นเรียกได้ว่ายกกันมาทั้งโปรแกรมภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เลยทีเดียว
ด้วยความที่โครงการห้องสมุดของเล่นต้นแบบฯ เป็นโครงการใหม่แรกคลอดของทางโปรแกรมฯการรวมตัวกันจึงไม่ง่ายนัก เพราะเพิ่งเริ่มต้น สมาชิกที่มาเข้าร่วมล้วนมาด้วยใจและไม่มีข้อมูลอะไรมาก่อน ซึ่งต้องยกความดีให้กับ อ.ชนางค์ลักษณ์ ขุนทอง อาจารย์แม่ของนักศึกษาปี 2 ห้องบี ที่เข้ามากระจายข่าวจนลูกๆ ของท่านเห็นดีเห็นงาม สามารถปลุกไฟในใจของหลายๆ คน ให้ไปสมัครโครงการนี้จนกลายเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ไปโดยปริยาย อาจเห็นว่ามีกันเพียงหยิบมือ แต่เมื่อมารวมตัวกันแล้วพลังกลับเหลือเฟือ ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน นำพลังที่เหลือจากการเรียนในแต่ละวันมาใช้ในโครงการนี้เหมือนไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย สมกับนิยามของมหาวิทยาลัยที่กล่าวไว้ว่า "มีจิตสาธารณะ" ทั้งเรียนและทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นควบคู่กันไปด้วย จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
"มุก" พิชญา วังสาร เพื่อนสมาชิกคนหนึ่ง ซึ่งปกติจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเรียนมากกว่าทำกิจกรรม ให้เหตุผลที่เข้าร่วมโครงการฯ นี้ด้วยสีหน้าและน้ำเสียงจริงจังว่า เพราะเป็นโครงการที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์กับสังคมส่วนรวม กับน้องๆ ในโรงเรียนที่ยังขาดแคลนของเล่น โครงการนี้สอนให้เรารู้จักแบ่งปันความสุขและรอยยิ้มแก่ผู้อื่น ฝึกความมีจิตอาสา ได้ทำเพื่อคนอื่นโดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน
แต่กว่าทุกคนจะผ่านเข้าสู่ประตูแห่งความสำเร็จจากโครงการได้นั้น ต้องผ่านด่านและอุปสรรคมากมาย เริ่มตั้งแต่การเข้าฝึกอบรม เรียนรู้แนวทาง ที่ต้องแลกกับการตื่นเช้าเพื่อไปนั่งฟังบรรยายจากวิทยากร มอ.ปัตตานี ผู้มีประสบการณ์การทำห้องสมุดของเล่น และนำความรู้ที่ได้มาระดมความคิดเห็นเพื่อวางแนวทางการทำงาน จากนั้นแบ่งภาระหน้าที่ออกเป็นส่วนๆ โดย อ.ยุ้ย เป็นผู้ส่งหนังสือไปยังบริษัท ห้างร้านต่างๆ เพื่อขอรับการสนับสนุนของเล่น นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเพจในเฟสบุ๊คสำหรับประชาสัมพันธ์โครงการ และเป็นช่องทางในการติดต่อขอแบ่งปันของเล่นทั้งใหม่และใช้แล้วจากประชาชนทั่วไป จากนั้นนำของเล่นมาคัดแยกตามหมวดต่างๆ พร้อมทั้งลงทะเบียนของเล่น ซึ่งอาจารย์จะเป็นคนสอนให้ในช่วงแรกๆ
ประสบการณ์ดีๆ อีกอย่างหนึ่งที่มีร่วมกันคือ การไปเดินเปิดหมวกในตลาดนัดวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย เพื่อหาเงินมาช่วยสมทบทุนเป็นค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยในโครงการ สำหรับบางคนนับเป็นครั้งแรก จึงต้องปลุกความกล้าในตัวเองขึ้นมา ตอนนั้นทุกคนคิดเพียงแค่ว่าทำเพื่อน้อง จึงยินที่จะใส่ชุดตุ๊กตาเดินถือกล่องรับบริจาค ตระเวนไปพร้อมกับคนถือบอร์ดและคนถือโทรโข่ง นำเสนอโครงการของเราไปทั่วทั้งตลาด ในคืนที่อากาศอบอ้าวนั้นพวกเราสามารถหาเงินภายใน 4 ชั่วโมง ได้ถึง 5,000 บาท ต้องขอขอบคุณผู้ใจดีทั้งหลาย ที่ทำให้เราได้แสดงความกล้าจนสามารถทำสำเร็จด้วยตัวเอง
พวกเราไม่ใช่แค่หาของเล่นหรือเงินเท่านั้น เพราะขั้นตอนที่สำคัญและเสียเหงื่อมากที่สุดคือ จัดเตรียมสถานที่สำหรับวางของเล่นที่ได้มา ช่วงเวลาพิสูจน์คนได้เห็นจากตอนนี้ เพราะทุกคนทั้งอาจารย์ และนักศึกษาต้องร่วมแรงกันพลิกฟื้นห้องสมุด เริ่มตั้งแต่ส่งตัวแทนไปดูลาดเลาสถานที่ เพื่อนำมาวางแผนว่าจะต้องทำอะไรบ้าง บทสรุปคือ ต้องทาสีใหม่และวาดรูปการ์ตูนบนฝาผนัง นัดวันเวลาเรียบร้อยแต่น้ำท่วมสงขลาเสียก่อน จึงต้องเลื่อนไปเป็นอาทิตย์ถัดไป และเมื่อได้ลงพื้นที่จริงปรากฏว่าไม่ใช่แค่งานทาสีห้องธรรมดาเสียแล้ว แทบจะรื้อห้องสมุดของโรงเรียนชุมชนบ้านด่าน กันเลย ตู้สามชั้นรื้อยกมาทาสี หนังสือนำมาจัดใหม่ จัดบอร์ดประดับฝาห้อง พื้นห้องต้องขัดถูเพื่อลงสีใหม่ และวาดรูปลงสีจนเกือบค่ำ แต่ละคนเลอะเทอะ มอมแมมไปด้วยฝุ่นและสีทาบ้าน แต่สิ่งที่ได้เห็นคือความตั้งใจในการทำงาน ความอดทนต่อความเหนื่อย และอากาศที่ร้อนอบอ้าวในวันนั้น แม้ทุกคนจะเหนื่อยแต่ก็ส่งสายตาให้กำลังใจกันตลอดจนงานเสร็จ
"ถามว่าเหนื่อยไหม บอกได้เลยว่าเหนื่อยครับ ในวันที่ทาสีและจัดสถานที่ การต้องเปลี่ยนแปลงแผนจากเดิมที่วางไว้ ด้วยหลายๆ ปัจจัย แต่ด้วยความสามัคคีของอาจารย์และนักศึกษาทุกคน ทำให้สามารถทำโครงการนี้ได้สำเร็จเกินคาด น้องๆ มีความสุข ได้รับของเล่นและหนังสือใหม่ๆ เพื่อสร้างเสริมพัฒนาการต่างๆ และที่สำคัญคือ ได้เห็นรอยยิ้มด้วยความดีใจของน้องๆ ถือเป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่ามาก"
ความรู้สึกจากใจของ "รุจ" ศิริชัย กล้าหาญ นักศึกษาปี 2 ซึ่งรับหน้าที่หลักฝ่ายจัดสถานที่ ช่างทาสีคนสำคัญ ทำตั้งแต่ผสมสีเองจนถึงขั้นตอนสุดท้ายของงานทาสีเลยก็ว่าได้
ปิดท้ายโครงการด้วยภารกิจส่งมอบห้องสมุดของเล่นให้น้องๆ โรงเรียนชุมชนบ้านด่าน เป็นอันว่าประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย ได้คำรับชมจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่มาเป็นเกียรติเยี่ยมชมผลงานของพวกเรา ทั้งท่านคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ฯ ผู้อำนวยการเขต ผู้อำนวยการ และคณะครูจากโรงเรียนเครือข่าย แต่ภาพที่สำคัญและเป็นกำลังใจที่ดีที่สุดสำหรับพวกเรา คือภาพรอยยิ้มบนใบหน้าไร้เดียงสาของน้องๆ อาการตื่นเต้นดีอกดีใจที่เห็นห้องสมุดของเขาสวยงามแปลกตาไปมาก บางคนชะแง้มองมาจากหน้าหน้าต่าง ขอบประตู แววตาเป็นประกายสดใส สิ่งเหล่านี้ทำให้ความเหน็ดเหนื่อยของวันที่ผ่านมาหายเป็นปลิดทิ้ง และเป็นแรงผลักสำหรับการทำงานในโรงเรียนต่อไปได้อย่างดี
"นัท" นุชนาถ ภักดี สมาชิกคนหนึ่งที่อยากเข้าร่วมโครงการนี้มาก ถึงขนาดไปชักชวนเพื่อนๆ ให้มาสมัครด้วย บอกถึงความรู้สึกการเป็นจิตอาสาว่า ดีใจที่มีโครงการนี้ขึ้นมา และดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นจิตอาสา ช่วยเหลือโรงเรียนของน้องๆ ด้วยการแบ่งปันของเล่น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และทักษะต่างๆ ภูมิใจที่ได้สร้างห้องสมุดของเล่น จัดกิจกรรมสร้างรอยยิ้มให้กับน้องๆ ได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อน เหมือนได้สร้างโลกใบใหม่ให้กับน้องๆ และตัวเองอีกด้วย
การเดินทางของกลุ่มพลังจิตอาสาจะไม่สิ้นสุดเพียงแค่นี้ เพราะยังมีเด็กอีกหลายโรงเรียนที่กำลังรอโอกาสจากพวกเรา ให้เข้าไปเติมสีสันการเรียนรู้ด้วยของเล่น เช่นเดียวกับที่ยังคงมีผู้ใจดีอีกหลายท่านที่อยากรวมพลังกับพวกเรา "ชาวราชภัฏสงขลา" และคุณคือหนึ่งในนั้น มาร่วมแบ่งปันความสุขให้น้องกันเถอะค่ะ