นนทบุรี--3 ต.ค.--อย.
สธ. เผยความคืบหน้าการกำหนดปริมาณสาร 3-MCPD ในซอสปรุงรส มิให้มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค และผลกระทบต่อการส่งออก โดยคณะอนุกรรมการพิจาณากำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานและความปลอดภัยของอาหารมีแนวทางจะกำหนดปริมาณสาร 3-MCPD ให้มีได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งจะนำเสนอคณะกรรมการอาหารพิจารณาก่อนประกาศเป็นกฎหมายในเร็ววันนี้
นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลังจากเสร็จสิ้น การประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดปริมาณสาร 3-MCPD ในซอสปรุงรส ว่า จากกรณีที่ซอสปรุงรสจากถั่วเหลืองมีสารปนเปื้อนกลุ่มคลอโรโปรปานอล ได้แก่ 3-MCPD และ 1,3-DCP ทำให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศเกิดความวิตกถึงอันตรายที่จะได้รับ โดยสารดังกล่าวเกิดจากกระบวนการผลิตที่นำกรดเกลือเข้มข้นมาย่อยสลายโปรตีนในถั่วเหลืองที่อุณหภูมิที่สูง มีผลการเกิดพิษในหนูทดลอง นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศจากการส่งคืนสินค้า จากประเทศคู่ค้า เนื่องจากการตรวจพบสารปนเปื้อน ในปริมาณเกินค่าที่ประเทศนั้นๆ กำหนด ซึ่งแต่ละประเทศมีค่ากำหนดการปนเปือนที่แตกต่างกันมากตั้งแต่ 0.01-1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนมาตรฐานสากล (Codex) และอีกหลายประเทศยังไม่มีการกำหนด การปนเปื้อนสาร 3-MCPD ในซอสปรุงรสดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทางกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญและตระหนักถึงสุขภาพของประชาชนคนไทยมาโดยตลอด จึงได้ระดมความร่วมมือจากภาครัฐและภาคธุรกิจ โดยมุ่งหน้นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคซอสปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวเริ่มตั้งแต่การศึกษาพัฒนากระบวนการผลิต การพัฒนาห้องปฏิบัติการและวิธีการตรวจวิเคราะห์ การตรวจเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในและต่างประเทศ การติดตามสถานการณ์ของประเทศต่างๆ เป็นต้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากความร่วมมือดังกล่าว ขณะนี้ผู้ผลิตได้พัฒนากรรมวิธีการผลิต เพื่อลดสารปนเปื้อนดังกล่าวได้ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค แม้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพและรสชาติไปบ้าง โดยจะมีการพัฒนาการผลิตให้มีคุณภาพมาตรฐานสูงยิ่งขึ้นไป และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานและความปลอดภัยของอาหารมีแนวทางจะกำหนดปริมาณสาร 3-MCPD ในซอสปรุงรสให้มีได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยพิจารณาจากการประเมินความเสี่ยงของคณะผู้เชี่ยวชาญ JECFA (JOINT FAO/WHO EXPERT COMMITTEE ON FOOD ADDITIVES) และจากการศึกษาวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การประเมินความเป็นไปได้ด้านเทคโนโลยีการผลิตและข้อกำหนดของประเทศต่างๆ สำหรับขั้นตอนต่อไปจะต้องนำเสนอคณะกรรมการอาหารพิจารณา และนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคาดว่าจะกำหนดให้มีผลบังคับใช้ 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำเนินการตรวจติดตามและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในท้องตลาด และดำเนินการกับผู้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในตอนท้ายว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการที่คณะกรรมาธิการยุโรปจะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจเยี่ยมสถานที่ผลิตซอสปรุงรส โดยกรมการค้าต่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นผู้ประสานงานหลักระหว่างหน่วยงานต่างๆ กับคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งคาดว่าจะมีกำหนดการตรวจเยี่ยมราวต้นปี--จบ--
-นห-