กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
จากรายงานผลการจัดอันดับภาพรวมสมรรถนะการศึกษาไทยในเวทีสากล ปี 2558 โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ที่ใช้ดัชนีตัวชี้วัดด้านการศึกษาอันเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของโครงสร้างพื้นฐานที่สถาบันระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาการจัดการ หรือ International Institute for Management Development (IMD) นำมาจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ เป็นกรอบหลักในการวิเคราะห์ พบว่า ภาพรวมสมรรถนะการศึกษาไทยในเวทีสากลอยู่ในอันดับที่ 48 จากทั้งหมด 61 ประเทศในทวีปยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียแปซิฟิก ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้สมรรถนะการศึกษาไทยอยู่ในอันดับท้ายๆ คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาของเยาวชนไทย ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อที่ว่า "พลังความรู้ คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา" และตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยเฉพาะในต่างจังหวัดซึ่งมักจะขาดโอกาสและปัจจัยต่างๆ ที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพดังกล่าว บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) จึงได้ริเริ่ม"โครงการสนับสนุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" (Banpu Education for Sustainability หรือ BES) ขึ้นในปี 2547 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาของเยาวชน ในโรงเรียนภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดลำพูน ลำปาง และพะเยา ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาทั้งโรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียน
บ้านปูฯ มอบงบประมาณพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้โรงเรียนรวมทั้งหมด 6 แห่งใน 3 จังหวัดเพื่อให้เป็นโรงเรียนขนาดกลางในท้องถิ่นที่มีคุณภาพ นำไปสู่การเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้อย่างยั่งยืนของเยาวชนและชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้านการพัฒนาการศึกษา ขณะเดียวกัน ยังจัดกิจกรรมฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพให้แก่ครูผู้สอน โดยคัดสรรเหล่าวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญมาแบ่งปันความรู้ให้แก่คณะครู รวมถึงนักเรียนในหัวข้อต่างๆ เช่น จิตวิทยาวัยรุ่น การใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้อง และการแนะแนวอาชีพ เป็นต้น นอกจากนั้น บ้านปูฯ ยังได้จัดหาครูสอนภาษาอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าของภาษาให้แก่ทุกโรงเรียนในโครงการฯ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตัวเองจากครูเจ้าของภาษา ด้วยเทคนิคการสอนที่น่าสนใจ นักเรียนสามารถนำภาษาอังกฤษจากชั้นเรียนไปใช้ในชีวิตจริงได้
นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส - องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "บ้านปูฯ เคยดำเนินธุรกิจในพื้นที่จังหวัดลำพูน ลำปาง และพะเยา และได้เห็นถึงปัญหาด้านการศึกษาและปัญหาของเยาวชนในพื้นที่ จึงริเริ่มโครงการสนับสนุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้น โดยตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ คิดเป็นมูลค่ารวมแล้วกว่า 37 ล้านบาท เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านการส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการ ซึ่งการดำเนินกิจกรรมการสนับสนุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ครู และนักเรียน มีเป้าหมายสูงสุด คือการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศ โดยเน้นให้เยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังที่สำคัญในอนาคตได้มีความรู้ทั้งด้านวิชาการ (academic skill) มีจริยธรรม คุณธรรม และทักษะชีวิต (life skill) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเป็นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต และพร้อมพัฒนาชุมชนและสังคมให้มีคุณภาพต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของบ้านปูฯ ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนและสังคมไปพร้อมๆ กับการดำเนินธุรกิจ"
หนึ่งในตัวอย่างนักเรียนที่ได้รับโอกาสด้านการเรียนรู้จากการดำเนินโครงการต่างๆ ของบ้านปูฯ และนำทักษะเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับตนเองได้อย่างเห็นผล คือ ด.ช. ปณต บ้านสระ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านสระ จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล และนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยกล่าวว่า "ครอบครัวของผมมีฐานะยากจน ทำให้ขาดโอกาสเพิ่มพูนความรู้ในวิชาที่เรียน โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ จนกระทั่งได้เรียนภาษาอังกฤษ และเข้าร่วมกิจกรรมนอกห้องเรียนกับคุณครูฝรั่งภายใต้โครงการ BES ผมจึงได้มีโอกาสฝึกฝนภาษาอังกฤษมากขึ้น จนเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้ผมมุ่งมั่นพัฒนาทักษะของตนเอง และในที่สุด วิชาภาษาอังกฤษก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมได้รับทุนพัฒนาการศึกษาจากในหลวงรัชกาลที่ 9 จนถึงระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิต"
ด้าน นายบุ๊ค เวียงจันทร์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนแม่ทะวิทยา จังหวัดลำปาง นักเรียนที่สามารถก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนมุ่งหวัง เป็นนักเรียนคนแรกของโรงเรียนที่ได้รับทุนนักเรียนแลกเปลี่ยนโครงการ American Field Service (AFS) แบบเต็มจำนวน กล่าวว่า "ผมใฝ่ฝันอยากไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ และสนใจภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีโอกาสได้ออกไปเรียนพิเศษ ครูสอนภาษาอังกฤษจากโครงการ BES ของบ้านปูฯ ได้ช่วยผลักดันมาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยไม่เพียงสอนจากตำราเรียน แต่ยังกระตุ้นให้นำภาษาอังกฤษมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ฟังเพลง ดูหนัง คุยกับเพื่อนต่างชาติผ่านโซเชียลมีเดีย สิ่งนี้เป็นเคล็ดลับที่ผมได้รับการฝึกฝนมาโดยตลอด การได้รับทุนAFS เป็นสิ่งที่ผมภูมิใจอย่างมาก"
ผลสำเร็จของโครงการสนับสนุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (BES) นี้ ไม่เพียงแค่เป็นการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนประจำท้องถิ่นทั้ง 6 แห่ง ในจังหวัดลำพูน ลำปาง และพะเยา โดยสะท้อนผ่านรางวัลการแข่งขันทางวิชาการต่างๆ ของนักเรียน หรือการที่ปัญหาต่างๆ อาทิ การออกจากโรงเรียนกลางคัน และปัญหายาเสพติดในเด็กนักเรียนทุเลาลงเท่านั้น แต่ทุกโรงเรียนยังพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนมุมมองด้านการศึกษาและการพัฒนาเยาวชน อีกทั้งยังเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มพูนศักยภาพด้านการเรียนการสอน ตลอดจนการใช้ชีวิตเพื่อให้ก้าวทันกระแสโลกในปัจจุบันได้ บ้านปูฯ จึงยังคงเดินหน้าสร้างโอกาสและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อคณะครู และนักเรียน ภายใต้โครงการสนับสนุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ต่อไป ตามกับปณิธานการดำเนินธุรกิจที่ว่า "อุตสาหกรรมที่ดีจะต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม"