ILCT: ชื่อโดเมนกับปัญหาข้อกฎหมาย(1)

ข่าวทั่วไป Thursday August 23, 2001 09:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--ที่ปรึกษากฎหมายสากล
โดยไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด
paiboona@mail.ilct.co.th
เมื่อประมาณปีที่แล้วมีข่าวครึกโครมทางหน้าหนังสือพิมพ์พอสมควรเกี่ยวกับดาราฮอลลีวู้ด 2 คนคือ Julia Robert และ Madonna ซึ่งยื่นคำร้องต่อองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO - World Intellectual Property Organization) เพื่อขอให้เพิกถอนชื่อโดเมน (Domain Name) คำว่า "juliaroberts.com" และคำว่า "madonna.com" ที่ชาวอเมริกันรายหนึ่งนำชื่อดาราทั้งสองไปจดทะเบียนชื่อโดเมน และท้ายที่สุด WIPO ได้มีคำวินิจฉัยเพิกถอนชื่อโดเมนทั้งสองชื่อ ในส่วนของประเทศไทยนั้น ปัญหาการที่มีบุคคลนำชื่อเครื่องหมายการค้าผู้อื่นไปจดทะเบียนชื่อโดเมนโดยมิชอบหรือปัญหา Cybersquatter ก็มีมากพอสมควร เช่นกรณีของ "amazingthailand.com" ที่นายคูนีย์ แครีย์ (Cooney Carey) ชาวแคนาดา ได้จดทะเบียนชื่อโดเมนคำว่า "amazingthailand.com" และนำมาเสนอขายให้รัฐบาลไทยในมูลค่าหลายสิบล้านบาท หรือกรณีของเว็บไซท์ cp.com หรือ italthai.com ก็ถูกยื่นจดทะเบียนชื่อโดเมนโดยบุคคลซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าว
ปัญหาที่ผู้ประกอบการ หรือท่านผู้อ่านทุกท่านถามกันเข้ามามากคือ หากชื่อทางการค้า ชื่อบริษัท หรือนามสกุลของท่าน โดนบุคคลอื่นนำไปใช้โดยมิชอบโดยนำไปจดทะเบียนชื่อโดเมน ท่านมีสิทธิในการเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้ชื่อดังกล่าวได้หรือไม่ วันนี้เราจะมาคุยเรื่องดังกล่าวกันครับ ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจกันก่อนครับว่าชื่อโดเมนนั้นคืออะไร
ชื่อโดเมนนั้นแท้ที่จริงคือ ที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต ที่คอมพิวเตอร์ใช้ติดต่อระหว่างกันเหมือนกับเลขที่บ้านที่เราใช้ในการติดต่อสื่อสารกันในปัจจุบัน ชื่อโดเมนนั้นในทางเทคนิคคือ ระบบการแปลงที่อยู่บน อินเตอร์เน็ต (ระบบ DNS System) จากตัวเลข 8 - 10 ตัว ในระบบดิจิตอล มาเป็นภาษามนุษย์ เพื่อง่ายแก่การจดจำ เช่น ชื่อโดเมนคำว่า "sanook.com" อาจจะมาจากที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต คือ 204.183.20.30 ซึ่งยากแก่การจดจำ จึงมีคนคิดค้นระบบเพื่อแปลงชื่อโดเมน ที่อยู่ในรูปแบบของตัวเลขดิจิตอลดังกล่าวมาเป็นชื่อโดเมน ที่อยู่ในรูปแบบของตัวอักษรโรมัน และใช้เป็นที่ติดต่อกันบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งโดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบกิจการค้าทั้งหลายก็มักใช้เครื่องหมายการค้า ชื่อทางการค้าของตนมาเป็นชื่อโดเมน ดังนั้นเมื่อเราใส่ ชื่อโดเมนคำว่า sanook.com ลงในช่อง URL Source Code คอมพิวเตอร์ก็จะทำหน้าที่ในการแปลงอักษรโรมัน ดังกล่าวเป็นตัวเลขดิจิตอล 10 ตัว และดึงแฟ้มข้อมูลของเว็บไซท์ sanook.com ที่ตำแหน่ง 204.183.20.30 มาปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์
ชื่อโดเมนนั้น ในปัจจุบันอาจแบ่งการจดทะเบียนชื่อโดเมนออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. ชื่อโดเมนระดับสากล (gTLD-Generic Top Level Domain Name) การจดทะเบียนชื่อโดเมนประเภทนี้ ผู้ที่สามารถรับจดทะเบียนชื่อโดเมนได้นั้น จะต้องได้รับอนุญาตให้เป็นนายทะเบียนรับจดทะเบียนชื่อโดเมน (Accredited Domain Name Registrar) จากรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งแต่เดิมผูกขาดอยู่กับบริษัท Network Solution Inc. จำกัด แต่ในปัจจุบันมีอยู่มากกว่า 140 รายทั่วโลก ชื่อโดเมนประเภทนี้ปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ประเภทใหญ่ๆ คือ
.com ใช้กับการประกอบการค้าทั่วไป
.edu ใช้กับการศึกษา
.gov ใช้กับองค์กรรัฐบาล
.mit ใช้กับองค์การทหาร
.net ใช้กับบริการเกี่ยวกับการสื่อสาร
.org ใช้กับองค์กรทั่วๆ ไป
ล่าสุด องค์การ ICANN (The Internet Corporation for Assigned Name and Numbers) ได้เพิ่มสกุลชื่อโดเมน อีก 7 สกุลคือ .aero .biz .coop .info .museum .name และ .pro (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซด์ www.icann.org)
2. ชื่อโดเมนระดับประเทศ (cCTLD-Country Code Top Level Domain Name) ชื่อโดเมนประเภทนี้เกิดจากแนวคิดที่ว่า แต่ละประเทศควรจะมีหน่วยงานรับจดทะเบียนชื่อโดเมนเป็นของตัวเอง จึงมีการจัดตั้งหน่วยงานที่รับจดทะเบียน ชื่อโดเมน ในแต่ละประเทศ โดยชื่อโดเมนประเภทนี้ มักจะมาจากชื่อย่อของแต่ละประเทศ เช่น
.th หมายถึง ประเทศไทย
.au หมายถึง ประเทศออสเตรเลีย
.uk หมายถึง ประเทศอังกฤษ เป็นต้น
ในส่วนของประเทศไทยนั้น มีหน่วยงานที่รับจดทะเบียนชื่อโดเมน ".th" คือ บริษัท ทีเอชนิค จำกัด ซึ่งให้บริการรับจดทะเบียนชื่อโดเมนระดับประเทศ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซด์ www.thnic.net) อันได้แก่
.co.th ใช้กับบริษัทนิติบุคคลทั่วไป
.ac.th ใช้กับสถานศึกษา
.go.th ใช้กับหน่วยงานรัฐบาล
.net.th ใช้กับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต
.or.th ใช้กับองค์การต่างๆ ที่ไม่ได้แสวงหากำไร
.mi.th ใช้กับกิจการทหาร
.in.th ใช้กับบุคคลธรรมดาทั่วไป
การจดทะเบียนชื่อโดเมนข้างต้นเป็นการจดชื่อโดเมนเป็นอักษรภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจเกิดข้อยุ่งยากในการจดจำในกรณีที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตไม่ทราบภาษาอังกฤษจึงมีการคิดค้น "ระบบการจดชื่อโดเมนเป็นภาษาท้องถิ่น" ระบบนี้คิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่อง การประกอบธุรกิจการค้าในประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการติดต่อ ตัวอย่างเช่น ชื่อโดเมน คำว่า sawadee.com ก็สามารถมาจดเป็นภาษาไทยเป็นภาษาไทยว่า "สวัสดี.คอม" ได้ ปัจจุบันในประเทศไทยมีบริษัทที่ดูแลเกี่ยวกับการจดทะเบียนชื่อโดเมนภาษาไทย คือ บริษัท ชื่อไทย.คอม (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซด์ www.thaiurl.com) ซึ่งรับจดทะเบียน ชื่อโดเมน เป็นภาษาไทย
นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆ นี้มีองค์กรที่รับจดทะเบียนชื่อโดเมนลูกผสมระหว่างภาษาไทยและภาษาอังกฤษคือ ชื่อโดเมนเป็นภาษาไทย แต่สกุลของชื่อโดเมนเป็นภาษาอังกฤษ เช่น คำว่า sawadee.com หากจดกับบริษัท ชื่อไทย.คอม จะเป็นชื่อโดเมนคำว่า สวัสดี.คอม แต่หากจดทะเบียนกับบริษัท แม็กซ์ เซฟวิ่ง จำกัด (เว็บไซท์ thainic.com) และบริษัท ออนไลน์เอ็นไอซี จำกัด (เว็บไซท์ onlinenic.com) ชื่อโดเมนที่จดจะเป็นคำว่า "สวัสดี.com"
ดังนั้นชื่อโดเมนโดยแท้ที่จริงก็คือ ชื่อที่อยู่บนอินเตอร์เน็ตที่คอมพิวเตอร์ใช้ติดต่อระหว่างกันหรือ IP Address นั่นเอง
ครั้งหน้าเราจะมาวิเคราะห์กันครับว่า หากชื่อบริษัทห้างร้านของท่าน โดยบุคคลอื่นยื่นจดทะเบียนชื่อโดเมนไป ท่านจะทำอย่างไรและมีสิทธิอย่างไรบ้าง อย่าลืมติดตามนะครับ--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ