กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ติดตามโครงการอุตสาหกรรมยาง หรือ Rubber City ของนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา บนพื้นที่ 1,218 ไร่ มั่นใจ Rubber City มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในการขนส่งทั้ง ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ในการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพารา อีกทั้งสามารถดึงผลผลิตยางในพื้นที่มาแปรรูปก่อให้เกิดการจ้างงานได้เพิ่มขึ้น
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการเข้าไปเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีพื้นที่ 1,218 ไร่ ในการรองรับอุตสาหกรรมนวัตกรรมยาง อุตสาหกรรมน้ำยางข้น อุตสาหกรรมยางคอมปาวด์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ก่อตั้งและให้ความสำคัญกับนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ มากเป็นพิเศษ เนื่องจากต้องการให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราอย่างต่อเนื่องและมีความยั่งยืน เพื่อให้สามารถดึงวัตถุดิบยาง ภายในประเทศมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ต้องพึ่งพิงตลาดต่างประเทศ สามารถยกระดับมาตรฐานราคายางพาราให้อยู่ในระดับที่เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยอยู่ได้ ไม่ประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำ แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมยางจะต้องไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และต้องก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในการลงทุนอุตสาหกรรมยางพาราของผู้ประกอบการรายใหญ่นั้นไม่น่าเป็นห่วงเรื่องการตลาด แต่ในกรณีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในระดับ SMEs จะต้องมองตลาดเป็นหลัก โดยผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยในเบื้องต้นหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรเป็นพี่เลี้ยงและดูแล ควบคู่ไปกับผู้ประกอบการ
ด้านนายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา (สศท.9) กล่าวเสริมว่า สำหรับนิคมอุตสาหกรรมยาง ถือว่ามีความพร้อมในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราไปต่างประเทศ และในประเทศ ตลอดถึงมีการออกแบบทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมระบบสาธารณูปโภค การจัดผังพื้นที่ ที่เป็นระบบ และมีการบริหารจัดการที่รองรับอุตสาหกรรมเชิงcluster ที่รองรับอุตสาหกรรมยางกลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งจะมีความสะดวก สบายในการดำเนินธุรกิจ และคุ้มค่าต่อการลงทุน นับเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจและเป็นการสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา
นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมยางพารา จะเน้นให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาลงทุน มีการเชื่อมโยงและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในระดับ SMEs เข้ามาลงทุนในพื้นที่ด้วย โดยในขณะนี้ นิคมการเกษตรรัตภูมิ จำกัด ได้มีแผนที่จะนำน้ำยางสดที่รับซื้อจากสมาชิกมาแปรรูปที่Rubber City และเน้นนำผลงานวิจัยเชิงนวัตกรรม มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น รองเท้าบูท รองเท้าเด็กนักเรียน ยางรองส้นเท้า และจอกรองน้ำยางพารา เป็นต้น