กรุงเทพฯ 3 มี.ค.--ศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงินสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และประชาชน (ศงป.)
ศงป.เผยผลดำเนินงาน 4 เดือนครึ่ง ผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนเข้ารับบริการปรึกษาทางการเงินเกือบ 4,000 ราย จากศูนย์ฯ ต่างๆ 25 แห่งทั่วประเทศ พร้อมเปิดบริการ Chat - Online ทางอินเตอร์เน็ต ล่าสุดได้เปิดศูนย์ฯ เพิ่มอีก 14 แห่ง เพื่อขยายฐานการบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
นายเศรษฐชัย ศรีวีระกุล กรรมการผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงินสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และประชาชน (ศงป.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมติครม. 10 สิงหาคม 2542 กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานว่า หลังจากศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงินสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และประชาชน เปิดบริการให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการในเรื่องการหาแหล่งเงินทุนเพื่อขยายกิจการ และลงทุนในโครงการใหม่ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตลอดจนการแนะนำในเรื่องการเงินแก่บุคคลทั่วไป โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2542 ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2543 ปรากฎว่ามีผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนทั่วไปให้ความสนใจขอรับคำแนะนำที่ศูนย์ ฯ ต่าง ๆ 25 แห่ง ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 3,986 ราย คิดเป็นวงเงินที่ให้คำปรึกษากว่า 25,843 ล้านบาท โดยผลของการให้บริการในช่วง 4 เดือนครึ่ง ที่ผ่านมา สามารถจบให้คำปรึกษาได้ประมาณ 1,929 ราย และที่เหลือต้องติดตามเพื่อดำเนินการต่อรวม 2,057 ราย สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมานอกจากการให้คำปรึกษาที่ศูนย์ ฯ แต่ละแห่งแล้ว ทาง ศงป. ยังมีโอกาสได้บริการให้คำปรึกษาแนะนำนอกสถานที่ โดยการร่วมเปิดคลินิกให้คำปรึกษาด้านการเงินกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในงานต่าง ๆ การจัดอบรมและสัมมนาทางวิชาการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในส่วนของการพัฒนาบริการผ่านระบบอินเตอร์เน็ต นอกจากการให้บริการ 4 ส่วนหลัก คือ ส่วนศิราณี SMEs การให้บริการด้านข้อมูล และการรับส่ง e-mail ทางศงป. ได้พัฒนาในส่วนของ Chat-Online ซึ่งเป็นการตอบปัญหาทางเว็บไซต์ให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน มาร่วมพูดคุยและตอบปัญหาในอินเตอร์เน็ต อาทิ ปัญหาด้านการเงิน กฎหมาย การผลิต การจัดการ และ การลงทุน ทุกวันศุกร์ เวลา 22.00-23.00 น. ที่เว็บไซต์ www.sfac.or.th ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจมีช่องทางในการใช้บริการมากยิ่งขึ้น
นายเศรษฐชัย ศรีวีระกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบัน ศงป. ได้เปิดศูนย์ฯจังหวัดเพิ่มอีก 14 แห่ง โดยได้รับความร่วมมือจากหอการค้าจังหวัดต่าง ๆ สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หรือ สถานที่เอกชนที่กรรมการบริหารพิจารณาเห็นสมควร เพื่อขยายฐานการให้บริการเพิ่มขึ้นและตอบสนองความต้องการของประชาชนทั่วประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนทั่วไป สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่ง และสามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางด้านการเงินจนประสบความสำเร็จ โดย ศงป. มีความพร้อมที่จะพัฒนาการบริการ และบุคลากรให้มีศักยภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ ทั้งภาคการค้า บริการ และการผลิต ทั้งในกรุงเทพและท้องถิ่นต่อไป
ทั้งนี้ ศูนย์ต่างจังหวัดที่ขยายเพิ่มขึ้นอีก 14 แห่ง ประกอบด้วย สระบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง สมุทรปราการ เพชรบุรี สมุทรสาคร เชียงราย ลำปาง นครสวรรค์ อุบลราชธานี อุดรธานี นครศรีธรรมราช และ สุราษฎร์ธานี--จบ--