กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.75เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai)เพิ่มขึ้น 0.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูป ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 0.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 66.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันดิบ
· รายงานฉบับเดือน ก.พ. 60 ของ OPEC ระบุว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 60 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 0.89 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 32.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าเพดานการผลิต 32.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ OPEC คาดการณ์ว่าปีนี้โลกจะต้องการน้ำมันดิบของกลุ่ม (Call-on-OPEC) เฉลี่ย 32.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดังนั้นถ้า OPEC ผลิตน้ำมันดิบเท่ากับปริมาณเดือน ม.ค. 60 อย่างต่อเนื่อง ตลาดน้ำมันจะเข้าสู่จุดสมดุล
· กระทรวงธรณีวิทยาของสหรัฐฯ รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบแหล่ง North Dakota ในเดือน ธ.ค. 59 ลดลงจากเดือนก่อน 92,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ คิดเป็น 8.9% อยู่ที่ 942,000 บาร์เรลต่อวัน จากการขุดเจาะน้ำมันดิบลดลง เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นจัดและมีลมแรง
· Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซีย ในเดือน ม.ค. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 100,000บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 11.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาด ICE ที่ลอนดอนและตลาด NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุด 14 ก.พ. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนเพิ่มสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 32,945 สัญญา มาอยู่ที่ 421,926 สัญญา สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ปัจจัยส่งผลลบต่อราคาน้ำมันดิบ
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 17 ก.พ. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 6 แท่น อยู่ที่ 597 แท่น สูงสุดตั้งแต่ ต.ค. 57
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ก.พ. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 9.5 ล้านบาร์เรล และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ถึง 3 เท่า สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 518.1 ล้านบาร์เรล
· อุปสงค์น้ำมันของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัว โดยสะท้อนจาก EIA อัตราการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศ สัปดาห์ล่าสุด (วันที่ 10 ก.พ. 60) ลดลง 2.3 % จากสัปดาห์ก่อนมาอยู่ที่ 85.4 %
· เจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 0.7 ล้าน บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. 60 จากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Feel จะกลับมาผลิตได้ภายใน 1 เดือน ส่งผลให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น 75,000 บาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดในวันศุกร์ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยตลาดยังคงรับกระแสข่าวกลุ่มประเทศผู้ผลิตOPEC กับ Non OPEC อาจเพิ่มระยะเวลาร่วมลดอุปทานน้ำมันดิบ และปริมาณต่อเนื่อง อาทิ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานรัสเซีย นาย Alexander Novak แถลงจะปฏิบัติตามข้อตกลงลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบกับกลุ่ม OPECโดยลดลง 300,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค.และ มิ.ย. 60 และคาดหวังว่าประเทศผู้ผลิตรายอื่นๆ จะให้เกียรติเคารพต่อข้อตกลงฯ เช่นกัน ซึ่งข้อตกลงฯ จะบรรลุประสิทธิผล ก็ต่อเมื่อปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด (100 %Compliance) เท่านั้น ทั้งนี้ Reuters รายงานรัสเซียยังรักษาระดับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในช่วงครึ่งแรกของเดือน ก.พ. 60 ใกล้เคียงกับเดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ 11.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ตลาดล่วงหน้า NYMEX อยู่ในสภาวะเปราะบาง อาจปรับตัวลดลง (Downward Correction) หลังสถานะถือครองสุทธิแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยผู้ค้าอาจเทขายสัญญาน้ำมันดิบ WTI เพื่อทำกำไรและปิดบัญชี โดยสัญญา WTI เดือน มี.ค. 60 จะครบกำหนดหมดอายุในวันที่ 21 ก.พ. 60 และตลาดส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ จะปิดทำการวันที่ 20 ก.พ. 60 เนื่องในวันหยุดฉลองวันประธานาธิบดี (Presidents Day) ประกอบกับอุปทานน้ำมันในสหรัฐฯ ส่งสัญญาณขยายตัว โดยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Rig) ในสัปดาห์ล่าสุด เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 5 สัปดาห์ และเฉลี่ยรายเดือนเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 9 เดือน ให้จับตามองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อาจแข็งค่า หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 14-15 มี.ค. 60 ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54-57 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ระหว่าง 51.5-54.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวที่ 52.5-53.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินรายสัปดาห์ปรับเพิ่มขึ้นจาก Platts รายงานตลาดน้ำมันเบนซินในเอเชียได้รับแรงสนับสนุนจากแรงซื้อของ บริษัทน้ำมันแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ADNOC) ในตลาดจร โดยออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 95 RON จำนวน 9 เที่ยวเรือ เที่ยวละ 230,000บาร์เรล ส่งมอบช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 60 เนื่องจากหน่วย RFCC (127,000บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Ruwais (840,000บาร์เรลต่อวัน) ยังคงหยุดดำเนินการ หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. 60 ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillatesเชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ก.พ. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 1.54 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.76 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์ และ Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ก.พ. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.60 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 170.1 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน (National Development and Reform Commission: NDRC) ประกาศปรับเพิ่มราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินขึ้น 50 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 0.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ก.พ. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.51 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 10.98 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 69-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลรายสัปดาห์ปรับเพิ่มขึ้นจากแรงซื้อจาก Pertamina ของอินโดนีเซียโดยเข้าซื้อน้ำมันเบนซิน 2,500 ppm จำนวน 2 เที่ยวเรือปริมาณรวม 1.2 ล้านบาร์เรล ส่งมอบเดือน มี.ค. 60 และ Petrolimex และSaigon Petro ซื้อ น้ำมันเบนซิน 500 ppm ปริมาณรวม 850,000 บาร์เรล ประกอบกับ IES รายงานปริมาณสำรองMiddle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ก.พ. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.70 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 13.71 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts รายงานว่าหลังจากฤดูหนาวในเอเชียเหนือสิ้นสุด โรงกลั่นน้ำมันปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ Kerosene (ทำความอบอุ่น) ที่ลดลง แล้วหันมาผลิตน้ำมันเบนซินมากขึ้น ตามรายงานของ PAJ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ก.พ. 60 ที่ระบุว่าญี่ปุ่นผลิตน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10% แต่ผลิตน้ำมันอากาศยานลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1% และ NDRC ของจีนประกาศปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 50 หยวน/ตัน หรือ 0.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มเป็นครั้งที่ 2 ในปี 60 นี้ อีกทั้ง PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ก.พ. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.11 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 9.50 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 65.5-68.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล