กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมมือกับองค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ เปิดตัวรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2559 เรื่อง "การศึกษาเพื่อมนุษย์และโลกของเรา: สร้างสรรค์อนาคตให้ยั่งยืนเพื่อปวงชน (Education for People and Planet: Creating Sustainable Future for All)" นำเสนอแนวโน้มการศึกษาของโลกต่อการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) ตามวาระการศึกษาปี ค.ศ. 2030 พร้อมตอกย้ำความจำเป็นของการจัดการศึกษาที่จะต้องตอบสนองต่อความท้าทายในปัจจุบันที่มนุษยชาติต้องเผชิญอยู่ โดยรายงานกล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการศึกษาจะเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาทั้ง 3 องค์ประกอบข้างต้น จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคน ทั้งการศึกษาในระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกับองค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ จัดงานเปิดตัวรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2559 ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องกมลทิพย์ ชั้น 2 โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด "รายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2559" ได้ที่เว็บไซต์ en.unesco.org/gem-reportสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4440 หรือเข้าไปที่www.tu.ac.th
หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหัวข้อ "การสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาประเทศชาติและเป็นแบบอย่างที่ดีให้เยาวชนคนรุ่นหลัง
นายควาง-โจ คิม ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ กล่าวในช่วงพิธีเปิดโดยเน้นถึงความสำคัญของการมีพันธสัญญาร่วมกันของรัฐบาล หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ธนาคารเพื่อการพัฒนาต่างๆ และกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม ในการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งหมด 17 เป้าหมาย ตามวาระการศึกษาปี ค.ศ. 2030 ซึ่งมีเป้าหมายที่ 4คือ การพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพโดยรวมอย่างเท่าเทียมและการส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคนว่า ในมุมมองของเป้าหมายที่ 4 การพัฒนาจะต้องมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นองค์รวมและครอบคลุมในวงกว้าง ระบบการศึกษาจำเป็นต้องตอบสนองต่อความคาดหวังและความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์ สังคม และโลกของเรา เราไม่สามารถพูดถึงการพัฒนาด้านการศึกษาแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงประเด็นอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เช่น การพัฒนาด้านสังคม การพัฒนามนุษย์ และการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม และท้ายสุด เราจะไม่สามารถบรรลุผลการพัฒนาในรูปแบบใดเลยหากไม่คำนึงถึงความยั่งยืน
นายควาง-โจ คิม กล่าวต่อถึงการบรรลุผลจากการดำเนินงานตามพันธสัญญาของประเทศไทยในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ตามเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชนและเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ และยังขยายโอกาสไปถึงการจัดการศึกษาปฐมวัย ซึ่งรายงานการติดตามฉบับนี้ ระบุว่าร้อยละ 93 ของเด็กไทยที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ได้มีประสบการณ์ที่ดีจากสิ่งแวดล้อมที่ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ ในรายงานยังระบุว่า อัตราการรู้หนังสือของเยาวชนไทย อยู่ในเกณฑ์ที่สูงถึง ร้อยละ 98 และอัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่สูงถึงร้อยละ 94 นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีการพัฒนาการศึกษาที่เป็นไปตามกรอบกว้างๆ ของเป้าหมายที่ 4 ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่เน้นให้นักเรียนได้มีการทำกิจกรรมกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ภายนอกโรงเรียนด้วย
นอกจากนี้ เมื่อนึกถึงงานด้านการพัฒนาในประเทศไทย เรามักรำลึกถึงโครงการพัฒนาต่างๆ ในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ซึ่งหลาย ๆ โครงการได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล การพัฒนาทักษะทางการเกษตร การปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาด้านสุขภาพและอนามัย ซึ่งล้วนแต่อยู่ในกรอบของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามวาระการศึกษาปี ค.ศ. 2030 อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ได้ระบุว่าประเด็นความท้าทายหลักที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทยมีเหมือนกันคือการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ และความไม่เสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งแต่ละประเทศต้องหาทางแก้ปัญหาโดยคำนึงถึงบริบทและความหลายหลายในท้องถิ่นนั้น ๆ และมีเจตจำนงทางการเมือง นโยบายที่ชัดเจน ตลอดจน นวัตกรรม และทรัพยากรที่จะใช้ในการแก้ปัญหาความท้าทายเหล่านี้ นายควาง-โจ คิม กล่าวสรุป
นางมากิ ฮายาชิกาวะ หัวหน้าแผนกการศึกษาที่มีคุณภาพโดยรวม องค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ กล่าวในการนำเสนอเนื้อหาข้อค้นพบที่สำคัญและข้อเสนอแนะของรายงานการติดตามการศึกษาฉบับนี้ โดยสรุป กรอบตัวชี้วัด กระบวนการติดตามผลการบรรลุเป้าหมายที่ 4 ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และประเด็นสำคัญ ๆ ที่ใช้ในการติดตาม และข้อเสนอแนะในแต่ละเป้าหมายย่อย ทั้ง 10 (จาก 4.1 ถึง 4.7 และ 4.A ถึง 4.C) ซึ่งกรอบตัวชี้วัดดังกล่าวแบ่งเป็น ตัวชี้วัดของโลก และ ตัวชี้วัดในแต่ละเรื่อง ภารกิจในการติดตามผลและจัดทำรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลกนี้ เป็นข้อตกลงร่วมกันของประชาคมโลก ในปฏิญญาอินชอน โดยชี้ให้เห็นความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณการเงินเพื่อการศึกษาว่าเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำไมหลายๆ ประเทศไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชนในช่วงปี ค.ศ. 2000-2015 ได้
นางมากิ กล่าวต่อว่า ตัวชี้วัดตามเป้าหมายย่อยที่เป็นกรอบในการติดตามผลการพัฒนาด้านการศึกษาทั่วโลกในแต่ละเรื่องยังต้องมีการพัฒนา และได้รับความเห็นชอบจากประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจ เนื่องจากบางเรื่องที่ถูกระบุไว้ในเป้าหมายย่อยเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องมีการติดตามแต่ยังไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน เช่น เรื่องการศึกษาผู้ใหญ่ การอาชีวศึกษาในสถานประกอบการ (เป้าหมายย่อยที่ 4.3) เรื่องทักษะการทำงาน (เป้าหมายย่อยที่ 4.4) เรื่องความเป็นพลเมืองโลก (เป้าหมายย่อยที่ 4.7) รวมทั้งมีข้อสังเกตอีกว่า ในเป้าหมายที่ 4 ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการเงินเพื่อการศึกษา ในขณะที่เอกสารที่ใช้เป็นกรอบการทำงานตามวาระการศึกษา ปี ค.ศ. 2030 ได้เรียกร้องให้แต่ละประเทศจัดสรรงบประมาณ ร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และอย่างน้อยร้อยละ 15 ของงบประมาณภาครัฐเป็นรายจ่ายเพื่อการศึกษา จากผลสำรวจในรายงานฉบับนี้ โดยเฉลี่ย หลายประเทศทั่วโลกสามารถจัดสรรงบประมาณตามสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศได้ แต่ยังไม่สามารถจัดงบประมาณภาครัฐเป็นรายจ่ายเพื่อการศึกษาตามสัดส่วนดังกล่าวได้ ซึ่งประเทศไทยนับว่ามีความก้าวหน้ากว่าหลาย ๆ ประเทศที่สามารถจัดสรรงบประมาณร้อยละ 4.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ร้อยละ 18.9 ของงบประมาณรายจ่ายของรัฐ ไว้สนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษาได้ (จากข้อมูลปี ค.ศ. 2013) ความท้าทายจึงอยู่ที่การบริหารจัดการให้มีประสิทธิผลสูงสุด
ในส่วนของการพัฒนาการศึกษาปฐมวัย ผลการติดตามจากรายงานฉบับนี้พบว่า มีเพียง 38 ประเทศที่ให้การศึกษาปฐมวัยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งประเทศไทยได้เริ่มมีการขยายโอกาสทางการศึกษาปฐมวัยไว้ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยผลจากรายงานพบว่า ในปี ค.ศ. 2012 ร้อย 91.5 ของเด็กไทยวัย 3 – 4 ปี มีพัฒนาการที่ดีตามเกณฑ์ และในปี ค.ศ. 2014 ร้อยละ 96 ของเด็กไทยได้เข้าเรียนชั้นอนุบาลก่อนวัยเข้าเรียนตามเกณฑ์ 1 ปี นอกจากนี้ ผลการติดตามในรายงานเป็นภาษาอังกฤษฉบับเต็ม ยังได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของคนต่อการพัฒนาโลกในบริบทต่างๆ อาทิ การลดอัตราการเกิด การรักษาสภาพแวดล้อม การรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติ การขจัดความยากจน การลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างสันติภาพ การขจัดความหิวโหย เกษตรกรรมที่ยั่งยืน และ การเข้าถึงระบบยุติธรรม เป็นต้น พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการศึกษาในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก และชี้ให้เห็นแนวโน้มของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ข้อที่ 4 ด้านการศึกษา รวมทั้งบทวิเคราะห์เกี่ยวกับระบบการศึกษาและงบประมาณในการจัดการศึกษา ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการติดตามประเมินผลเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติด้วย นางมากิ กล่าวสรุป
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า การศึกษาเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยให้ความใส่ใจในการพัฒนา เนื่องด้วยการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและเข้าถึงได้จะเป็นรากฐานในการยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมต่อไป โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ภาครัฐควรเข้าไปมีบทบาทในการปฏิรูประบบการศึกษาในเชิงนโยบาย อาทิการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ การศึกษาที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการศึกษาแบบการเรียนรวม (Inclusive Education) ตลอดจนการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้และทักษะวิชาชีพขั้นสูงที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจและสังคม การติดตามผลและประเมินหลักสูตรการสอน ตลอดจนประสิทธิภาพของอาจารย์ผู้สอนเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาทางการศึกษาให้เด่นชัด การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานทางการศึกษาในระดับภูมิภาค เพื่อสร้างเครือข่ายภาคีความร่วมมือทางวิชาการในการดำเนินงานตามภารกิจของรัฐ อีกทั้งยังต้องแก้ปัญหาอัตราการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาและจำนวนบัณฑิตที่จบสูงขึ้นแต่ไม่มีศักยภาพจริงในการทำงานในวิชาชีพ เป็นต้น
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งเป้าในการพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณภาพ ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์บริหารมหาวิทยาลัยปี 2560-2564 โดยมุ่งมั่นในการผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ให้ครบเครื่องด้วยพื้นฐานความเชี่ยวชาญ เพื่อสอดรับกับการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจไทยในยุคเทคโนโลยี และบรรลุเป้าหมายตามพันธกิจพัฒนาการศึกษาระดับโลกภายในปี ค.ศ. 2030 โดย 5 ยุทธศาสตร์ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การสร้างบัณฑิต ให้มีความรู้ศาสตร์การประกอบการและธุรกิจ เข้าใจบริบทโลก (Global Mindset) ยุทธศาสตร์การสร้างสรรค์งานวิจัย โดยมุ่งสร้างสรรค์ และพัฒนาคุณภาพงานวิจัยให้ได้มาตรฐานเทียบเท่าในระดับสากล อย่างบูรณาการและยั่งยืน ยุทธศาสตร์การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ผ่านเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ การสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และยุทธศาสตร์การมุ่งสู่ความมั่นคงและยั่งยืน โดย มธ. มีความเชื่อมั่นว่ายุทธศาสตร์การบริหารสถาบันดังกล่าว เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของระบบการศึกษาอย่างยั่งยืนอันตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในทุกระดับศาสตราจารย์ ดร. สมคิด กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกับองค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ จัดงานเปิดตัวรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2559 ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมี หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายควาง-โจ คิม ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ ร่วมในพิธีเปิด และมีผู้แทนหน่วยงานภาคการศึกษา ผู้แทนสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน รวมทั้งสิ้นประมาณ 150 คน เข้าร่วมงาน ณ ห้องกมลทิพย์ ชั้น 2 โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ
สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด "รายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2559" ได้ที่เว็บไซต์en.unesco.org/gem-report สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4440 หรือเข้าไปที่ www.tu.ac.th