กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--กรมประมง
จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 อนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้กรมประมงกู้เงิน จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จำนวน 350 ล้านบาท เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ประสบอุทกภัย 12 จังหวัดภาคใต้ ให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและมีรายได้กลับสู่สภาวะปกติ
นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงจึงได้จัดทำโครงการฟื้นฟูช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยด้านการประมงและขาดสภาพคล่องในการลงทุนเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จำนวน 3,500 ราย อาทิ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดิน เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ฯลฯ โดยช่วยเหลือในการให้กู้ยืมเงินปลอดดอกเบี้ย เพื่อเป็นเงินทุนบางส่วนสำหรับนำไปซื้อปัจจัยการผลิต ได้แก่ ค่าลูกพันธุ์สัตว์น้ำ ค่าอาหารสัตว์น้ำ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อให้ประกอบอาชีพต่อไปได้
ซึ่งได้กำหนดแผนระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ไว้ 2 ปี (กุมภาพันธ์ 2560 – กันยายน 2562) โดยจะมีเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเกษตรจาก ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ 12 จังหวัด และมีสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอยู่ในพื้นที่ตามประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และเป็นเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมประมงก่อนเกิดภัย มีพื้นที่การเพาะเลี้ยงสัตวน้ำ ไม่เกิน 5 ไร่ ทั้งนี้ หากมีเกษตรกรแจ้งความประสงค์สมัครเข้าร่วมโครงฯ มากกว่า 3,500 คน คณะกรรมการบริหารโครงการฟื้นฟูช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยด้านการประมงระดับจังหวัดจะพิจารณาคัดเลือกอีกครั้งเพื่อให้อยู่ในจำนวนเป้าหมายที่กำหนดโดยเกษตรกรที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาจะต้องมาติดต่อสำนักงานประมงอำเภอหรือสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ของตนเพื่อจัดทำคำขอกู้ยืมเงิน ซึ่งหลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคุณสมบัติ แผนดำเนินงาน และความเหมาะสมของเกษตรกรที่ขอกู้ยืม และเมื่อเกษตรกรได้รับการอนุมัติและทำสัญญากู้ยืมเงินแล้ว เจ้าหน้าที่กรมประมงจะได้ดำเนินการเข้าสร้างความรู้ความเข้าใจให้คำแนะนำแก่เกษตรกรรวมทั้งติดตามประเมินผลเป็นระยะจนกว่าจะสิ้นสุดโครงการด้วย
ทั้งนี้ กรมประมงคาดหวังว่าการดำเนินโครงการดังกล่าว จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ และยังสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ว่าผลผลิตสัตว์น้ำจะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนในระบบการตลาด ที่สำคัญในระยะยาวจะสามารถช่วยฟื้นฟูอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน โดยประมาณการได้ว่าปริมาณสัตว์น้ำไม่น้อยกว่า 110 ตัน จะไม่หายไปจากระบบ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าสัตว์น้ำจากโครงการไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาทในปีแรก และยังผลต่อเนื่องทุกปี ซึ่งก่อให้เกิดความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกร ส่วนเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ กรมประมงจะได้หาแนวทางในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป...รองอธิบดีกรมประมง กล่าว