กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--บ้านสมเด็จโพลล์
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่ อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,305 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 6 – 9 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย บนวิสัยทัศน์ที่ ว่า "มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" ในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ไทยแลนด์ 4.0 ถือเป็นการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนประเทศที่มีอยู่ 2 ด้าน คือ ความหลากหลายเชิงชีวภาพ และ ความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม เน้น ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย 1. กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech) 2. กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness & Bio-Med) 3. กลุ่มเครื่องมือ อุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Smart Devices, Robotics & Mechatronics) 4. กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital, IOT, Artificial intelligence & Embedded Technology) 5. กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services) ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่เข้าใจนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ร้อยละ 53.0 อันดับที่สองคือ เข้าใจ ร้อยละ 27.7 และ อันดับที่สามคือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 19.3 และไม่ทราบว่ามี 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ร้อยละ 47.2 อันดับที่สองคือ ทราบ ร้อยละ 31.1 และ อันดับที่สามคือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 21.7
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้น อันดับที่ 1 คือ ใช่ ร้อยละ 37.5 อันดับที่สองคือ ไม่ใช่ ร้อยละ 31.8 และ อันดับที่สามคือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 30.7
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่ามีความเป็นไปได้กับการใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติหรือปัญญาประดิษฐ์สามารถทำงานแทนการจ้างแรงงานคน ร้อยละ 44.9 อันดับที่สองคือ มีความเป็นไปไม่ได้ ร้อยละ 31.9และ อันดับที่สามคือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 23.2 และคิดว่าในอนาคต แรงงานคน จะได้รับผลกระทบกับบริษัทหรือโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติหรือปัญญาประดิษฐ์แทนคน ร้อยละ 47.1 อันดับที่สองคือ ไม่ได้รับผลกระทบ ร้อยละ 38.4 และ อันดับที่สามคือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 14.5
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ต้องการเห็นการเห็นตำแหน่งงานที่ใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติหรือปัญญาประดิษฐ์ อันดับที่ 1 คือ พนักงานขาย ร้อยละ 25.6 อันดับที่สองคือ พนักงานต้อนรับ ร้อยละ 25.4 อันดับที่สามคือ คนขับรถ ร้อยละ 18.4 อันดับที่สี่ คือ Call Center ร้อยละ 15.5 อันดับที่ห้า คือ ตำรวจจราจร ร้อยละ 8.4 และอันดับที่สุดท้าย คือ เจ้าหน้าที่บัญชี ร้อยละ 6.7