คนไทยเป็นโรคอยู่ดีกินดีกำเริบ ส่งผลโรคหัวใจพุ่งสูงแพทย์แนะหยุดตามใจปาก - ลดไขมันในเลือด ก่อนโรคร้ายคุกคาม

ข่าวทั่วไป Friday November 23, 2001 10:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--ไนน์ อีสต์
แพทย์วิตกคนไทยมีไขมันในเลือดพุ่งสูง ก่อโรคหัวใจขาดเลือด และอัมพฤกษ์ อัมพาต 3 เท่า เหตุเป็นโรคอยู่ดีกินดีและตามใจปาก กลุ่มแพทย์โรคหัวใจเร่งจับมือ แพทย์โรคเบาหวาน นักโภชนาการ และบุคลาการแพทย์ จัดตั้งโครงการ "รักหัวใจ ใส่ใจโคเลสเตอรอล" เสริมสร้างความเข้าใจให้ตระหนักและหยุดพฤติกรรมเสี่ยงก่อนสายเกินแก้
นพ.บรรหาร กออนันตกูล ผู้อำนวยการกองอายุรกรรม และหัวหน้าศูนย์ป้องกัน และพัฒนาการรักษาโรคหัวใจ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะประธานโครงการ "รักหัวใจ ใส่ใจโคเลสเตอรอล" เปิดเผยถึงอันตรายจากภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูงว่ามีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมากกว่าคนที่มีภาวะไขมันในเลือดปกติถึง 3 เท่า เช่น โรคหัวใจขาดเลือด ปัจจุบันพบว่าคนไทยมีภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูงมากขึ้น เนื่องจากมีความอยู่ดีกินดีกว่าในอดีต อีกทั้งนิสัยการรับประทานอาหารของคนไทยชอบตามใจปากและท้องมากกว่าจะคำนึงถึงโภชนาการที่ถูกต้องและปริมาณไขมันที่จะได้ ประกอบกับวิถีชีวิตของคนไทยในปัจจุบันเป็นไปทางที่รีบเร่งมากขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ จึงหันไปรับประทานอาหารจานด่วน หรือฟาสต์ฟู้ดกันมากขึ้น ซึ่งเป็นอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูง แต่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ
น.พ.บรรหาร กล่าวแนะนำว่า ผู้ที่มีโคเลสเตอรอลในเลือดสูงต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยการควบคุมอาหาร โดยเลือกชนิดของอาหารที่มีโคเลสเตอรอลและกรดไขมันอิ่มตัวให้น้อยลง รวมทั้งกำหนดปริมาณของอาหารให้พอเหมาะกับความต้องการ ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะและต่อเนื่อง และงดสูบบุหรี่ แต่ถ้ายังไม่ได้ผลควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและใช้ลดระดับโคเลสเตอรอลร่วมด้วย
"โรคหัวใจขาดเลือดทำให้คนไทยเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ซึ่งสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคนี้ก็คือภาวะโคเลสเตอรอลสูงในเลือด แต่เป็นเรื่องที่น่าวิตกมากเพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ถึงอันตรายของโคเลสเตอรอลหรือยังมีความเข้าใจแบบผิดๆ ว่า โคเลสเตอรอลได้มาจากอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูงเท่านั้น แท้ที่จริงแล้วระดับไขมันในกระแสเลือดสูง สามารถสังเคราะห์ขึ้นมาเองจากการทำงานของตับ โดยการกินอาหารจำพวก เครื่องในสัตว์ ไข่แดง และอาหารทะเลบางชนิด เช่น ปลาหมึก กุ้ง และการกินอาหารประเภทไขมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูงๆ เช่น กะทิ ไขมันจากสัตว์ หนังสัตว์ รวมทั้งการกินอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลมากเกินความต้องการของร่างกาย อีกด้วย และบางคนคิดว่าความอ้วนเป็นตัวชี้วัดโคเลสเตอรอลสูง อันที่จริงแล้ว คนที่มีพันธุกรรมผิดปกติและโคเลสเตอรอลสูงนั้น ไม่จำเป็นต้องอ้วน ฉะนั้นการที่จะทราบระดับโคเลสเตอรอลในเลือดได้ถูกต้องคือ ไปตรวจเลือดเท่านั้น โคเลสเตอรอลจึงเป็นเพชฌฆาตเงียบที่ทำร้ายหัวใจและชีวิตโดยที่หลายคนไม่รู้ตัว" นพ.บรรหาร กล่าวและเสริมว่า
สืบเนื่องจากปัญหาดังกล่าว แพทย์โรคหัวใจ แพทย์ระบบต่อมไร้ท่อ (แพทย์โรคเบาหวาน) นักโภชนาการ และบุคลากรทางการแพทย์ จึงได้ร่วมจัดตั้งโครงการ "รักหัวใจ ใส่ใจโคเลสเตอรอล" เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับโคเลสเตอรอล ต่อบทบาทของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์และอัมพาต โดยเน้นที่จะให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป ถึงภยันตรายของโรคที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความตระหนักจะได้ตั้งใจมากขึ้นและพร้อมที่จะปฎิบัติตน โดยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามแนวทางที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง ก็จะสัมฤทธิ์ผลต่อการป้องกันโรค นอกจากนั้นโครงการยังให้บริการตรวจวัดระดับไขมันในเลือดให้แก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ อันจะเป็นประโยชน์ในเชิงรุกเพื่อการป้องกันและลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ไฟเซอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยบริษัทฯ มิได้หวังผลในเชิงพาณิชย์จากการสนับสนุนโครงการนี้
คณะกรรมการของโครงการฯ ประกอบด้วย นพ.บรรหาร กออนันตกูล นพ.ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ ศ.น.พ.เจริญทัศน์ จินตนเสรี นพ.ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา รศ.ดร.ปรียา ลีฬหกุล และบุคลากรทางการแพทย์
โครงการ "รักหัวใจ ใส่ใจโคเลสเตอรอล" ได้จัดงานเปิดโครงการฯเป็นครั้งแรก โดยให้บริการตรวจวัดระดับไขมันในเลือดแก่ประชาชน และการบรรยายพิเศษเรื่อง "ปัญหาโคเลสเตอรอลกับโรคหัวใจและสมอง" ในวันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2544 เวลา 09.00 น. โดย ฯพณฯ สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอโนมา ถนนราชดำริ
ผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิกโครงการฯ ติดต่อได้ที่ ตู้ ปณ. 1114 ปณฝ.นานา กรุงเทพฯ 10112 โทร. 0-2665-4599 แฟกซ์ 0-2656-8454 หรือ www.HeartAndCholesterol.com
คำถามที่พบบ่อย เรื่อง "โคเลสเตอรอล"
1. ถาม โคเลสเตอรอลคืออะไร?
ตอบ โคเลสเตอรอลเป็นสารไขมันคล้ายขี้ผึ้ง ซึ่งมีอยู่ในทุกเซลล์ของร่างกายของคนเรา โคเลสเตอรอลบางชนิดจำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย ตับของคนเราสามารถผลิตโคเลสเตอรอลให้เพียงพอต่อความจำเป็นของร่างกายอยู่แล้ว อาหารบางประเภทก็ให้ปริมาณโคเลสเตอรอลเช่นกัน ซึ่งกลายเป็นส่วนเกินจากที่ร่างกายต้องการ
แม้ว่าโคเลสเตอรอลจำนวนหนึ่งในกระแสเลือดจำเป็นต่อสุขภาพของคน หากมีมากเกินไปก็จะเป็นอันตรายได้ ถ้าระดับโคเลสเตอรอลสูงเกินไป มันจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ สาเหตุที่ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลสูง มีหลายประการ เช่น พฤติกรรมในการรับประทานอาหาร กรรมพันธุ์ ความอ้วนและโรคบางอย่าง เช่น เบาหวานก็เป็นเหตุให้เกิดโคเลสเตอรอลสูงได้
2. ถาม โคเลสเตอรอลมีหลายชนิดหรือ?
ตอบ ใช่ โคเลสเตอรอลและไขมันแต่ละชนิดมีผลกระทบต่อร่างกายแตกต่างกัน ชนิดที่รู้จักกันดีได้แก่
- แอล ดี แอล โคเลสเตอรอล (LDL Cholesterol = LDL)
แอล ดี แอลโคเลสเตอรอลรู้จักกันว่าเป็น "โคเลสเตอรอลชนิดเลว" ปริมาณ แอล ดี แอล ที่มากเกินไปจะสะสมที่เส้นเลือดแดงของหลอดเลือดหัวใจและอาจทำให้เกิดโรคหัวใจ ระดับของ แอล ดี แอล ยิ่งสูงเท่าใด อัตราความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจก็ยิ่งสูงเท่านั้น การลดปริมาณสะสมของ แอล ดี แอล นั้นสามารถป้องกันโรคหัวใจและลดอัตราการเสียชีวิตได้
- เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล (HDL Cholesterol = HDL)เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล หรือที่เรียกว่า "โคเลสเตอรอลชนิดดี" เพราะว่า เชื่อกันว่ามันสามารถกำจัดโคเลสเตอรอลในกระแสเลือดได้ การมี เอช ดี แอล ในเลือดสูงอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ ถ้ามีระดับต่ำก็จะเพิ่มอัตราเสี่ยงในการเป็น โรคหัวใจ
- ไตรกลีเซอไรด์ (TRG : Triglyceride)
ไตรกลีเซอไรด์เป็นไขมันอีกชนิดหนึ่งในกระแสเลือดของคนเรา ผู้ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ ในเลือดสูงอาจมีระดับ แอล ดี แอล สูงเช่นกัน ผู้ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงพร้อมกับมีระดับ แอล ดี แอล โคเลสเตอรอลสูงแล้วยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
3. ถาม มีวิธีวัดระดับโคเลสเตอรอลกันอย่างไร?
ตอบ ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดของคนนั้นวัดเป็นมิลลิกรัมของโคเลสเตอรอลต่อหน่วยเดซิลิตรของเลือด (มก./ดล.)
4. ถาม ความเครียดมีผลอย่างไรต่อโคเลสเตอรอล?
ตอบ คำว่า "ความเครียด" หมายถึงสภาวะที่เป็นผลจากการตอบสนองของบุคคลต่อปัจจัยทางกายภาพ เคมี อารมณ์ หรือสิ่งแวดล้อม อาจหมายถึงความเครียดทางกาย เช่นเดียวกับความเครียดทางจิต ทุกคนมีความเครียดแตกต่างกันและมีวิธีตอบสนองที่ แตกต่างกันด้วย
ในระยะยาว ความเครียดยังไม่ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเพิ่มขึ้นของโคเลสเตอรอลอย่างไรก็ตาม ความเครียดนั้นมีผลกระทบต่อนิสัยของบุคคล บางคนพยายามทำให้ตัวเองสบายใจระหว่างช่วงที่เครียดด้วยการบริโภคอาหารมากๆ หรือบริโภคอาหารที่มี ไขมันมากหรือโดยการสูบบุหรี่ ดังนั้น ไขมันอิ่มตัวและโคเลสเตอรอลในอาหารเหล่านั้นต่างหากที่ทำให้เกิดโคเลสเตอรอลในระดับสูง ไม่ใช่ความเครียด การบริโภคอาหารอย่างสมดุลและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นสองวิธีที่จะช่วยลดและป้องกันความเครียด
ความเครียดเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ โดยตัวมันเองหรือไม่ยังไม่ชี้ชัด แต่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางประการที่ชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่าง โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจและความเครียดบางอย่าง เช่น ความตึงเครียดจากงาน การโดดเดี่ยวจากสังคม และลักษณะนิสัยบุคลิกส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ไม่มีวิธีการเฉพาะที่จะแสดงว่าความเครียดจะทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้ อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ความเครียดอาจมีผลต่อปัจจัยเสี่ยงและพฤติกรรมอื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดโรคหลอดเลือด หัวใจ อย่างเช่น การสูบบุหรี่ การขาดการออกกำลังกาย และการรับประทานมากเกินไป
5. ถาม จะหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโคเลสเตอรอลได้ที่ไหนบ้าง?
ตอบ โครงการ "รักหัวใจ ใส่ใจโคเลสเตอรอล" มีเอกสารที่เป็นแผ่นพับและหนังสือเล่มเล็กๆ ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องไขมัน และโคเลสเตอรอล การออกกำลังกาย และโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีระดับโคเลสเตอรอลสูง ฯลฯ
หากท่านสนใจ กรุณาติดต่อที่ "ตู้ ป.ณ. 1114 ปณฝ. นานา กรุงเทพฯ 10112 หรือ โทร 0-2665-4599" ซึ่งท่านสามารถจะสมัครเป็นสมาชิกของโครงการ "รักหัวใจใส่ใจโคเลสเตอรอล" แล้วจะได้รับข้อมูลเป็นระยะๆ รวมทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการนี้ด้วย
6. ถาม การตั้งครรภ์สามารถเปลี่ยนแปลงระดับโคเลสเตอรอลได้หรือไม่?
ตอบ การตั้งครรภ์บางครั้งทำให้เพิ่มระดับโคเลสเตอรอลในเลือด โดยมากแล้วระดับโคเลสเตอรอลในเลือดจะกลับสู่ระดับปกติภายใน 20 สัปดาห์หลังคลอด
7. ถาม ทำไมระดับโคเลสเตอรอลสูงจึงเป็นความเสี่ยงสำหรับสุขภาพ?
ตอบ ระดับโคเลสเตอรอลสูงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อสุขภาพ เพราะสามารถก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจแต่ละปี คนอเมริกันได้เสียชีวิตเนื่องจากโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจมากกว่าสาเหตุอย่างอื่น คนอเมริกันมากกว่า 13 ล้านคนเป็นโรคหัวใจ ผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการหัวใจวายหรือเคยมีอาการเจ็บหน้าอก (Angina) สมาคมแพทย์โรคหัวใจอเมริกัน กล่าวว่า ระดับ แอล ดีแอล โคเลสเตอรอลที่สูงเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของการเกิดโรคหัวใจ
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ ได้แก่
- ระดับ แอล ดี แอล โคเลสเตอรอลสูง
- ระดับ เอช ดี แอล โคเลสเตอรอลต่ำ (น้อยกว่า 40 มก./ดล)
- ความดันเลือดสูง
- เบาหวาน
- อายุมากขึ้น
- การสูบบุหรี่
- ครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุน้อย (พ่อแม่หรือพี่น้องผู้ชายอายุน้อยกว่า 55 ปี หญิง 65 ปี)
8. ถาม ระดับโคเลสเตอรอลที่สูงทำให้เกิดโรคหัวใจได้อย่างไร?
ตอบ หลอดเลือดที่มีสุขภาพดีจะมีพื้นผิวที่เรียบและเท่ากัน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีโคเลสเตอรอลมากมาสะสมอยู่ที่ผนังหลอดเลือดมากเกินไป สิ่งที่เกาะติดหนานี้เรียกว่า เพลค (แผ่น) ก็เกิดขึ้น การเกิดเพลคทำให้หลอดเลือดแคบลง ดังนั้นหัวใจจึงทำงานหนักขึ้นเพื่อผลักดันให้เลือดไหลผ่านไป หรือก่อให้เกิดการแตกเพราะหลอดเลือดโป่งบวม ทำให้เกิดมีลิ่มเลือดมาอุดตันรอยแผล การเกิดก้อนเลือด เมื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นในเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงหัวใจหรือเส้นเลือดใหญ่ที่เลี้ยงสมอง กระแสเลือดก็ถูกปิดกั้นอย่างสมบูรณ์ ผลคือหัวใจวายหรือล้มเหลว
9. ถาม ระดับโคเลสเตอรอลปกติ สูงเพียงใด?
ตอบ คนอเมริกันเกือบ 97 ล้านคนมีระดับโคเลสเตอรอลรวมที่สูงหรือสูงกว่าระดับปกติ คือ มากกว่า 200 มก./ดล. สำหรับผู้ใหญ่ ระดับโคเลสเตอรอลรวมที่ 240 มก.ดล. หรือสูงกว่าถือว่าสูงชัดเจน และระดับจาก 200 ถึง 239 มก./ดล. ถือว่าเป็นเกือบสูง
10. ถาม การลดระดับโคเลสเตอรอลจะสามารถช่วยป้องกันโรคหัวใจได้หรือไม่?
ตอบ ได้ การลดระดับโคเลสเตอรอลลงร้อยละ 1 จะทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจร้อยละ 2 การศึกษาเพิ่มเติมแสดงให้เห็นว่าการลด "โคเลสเตอรอลชนิดเลว" ของคุณ หรือ แอล ดี แอล โคเลสเตอรอล สามารถป้องกันอาการหัวใจวายและช่วยยืดอายุได้ วงการแพทย์พบว่า ระดับ แอล ดี แอล โคเลสเตอรอลที่สูงจะเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของการเกิดโรคหัวใจ
11. ถาม เราจะควบคุมโคเลสเตอรอลสูงอย่างไร?
ตอบ บางครั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอาจเพียงพอที่จะลดระดับโคเลสเตอรอลในอยู่ระดับที่น่าพอใจ แต่ก็มีอีกหลายกรณีที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร และการดำเนินชีวิตประจำวันต้องทำควบคู่ไปกับการใช้ยา
อย่างไรก็ตาม เมื่อท่านสามารถลดระดับโคเลสเตอรอลได้ถึงเป้าหมาย ท่านก็ยังต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อรักษาระดับโคเลสเตอรอลที่ทำให้สุขภาพดี เพราะระดับ โคเลสเตอรอลจะค่อยๆ สูงขึ้นถ้าท่านหยุดการรักษา จึงมีความจำเป็นต้องรักษาวิธีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเพื่อสุขภาพที่ดีและรักษาโคเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับที่พึงพอใจ
12. ถาม คนเราจะเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหารได้อย่างไร?
ตอบ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการรับประทานอาหารควรเป็นก้าวแรกในการ ลดระดับโคเลสเตอรอล ควรจำกัดปริมาณของไขมันในอาหาร โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว อาหารที่มี ไขมันมาก เช่น เนย นมสด ไอศกรีม และเนื้อบางประเภท ควรรับประทานอาหารที่ไม่มีโคเลสเตอรอล ได้แก่ อาหารที่มีเส้นใยมากจากพืช เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ และธัญพืช ควรเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำหรือไร้ไขมัน แพทย์หรือนักโภชนาการจะสามารถกำหนดเป้าหมายของการจำกัดอาหาร และให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โดยปกติแล้ว ถ้าต้องการลดโคเลส- เตอรอลควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมันและรับประทานผลไม้ ผักสด และธัญพืชให้มากขึ้น การมีน้ำหนักตัวมากเกินมีผลต่อระดับโคเลสเตอรอลได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ หรือนักโภชนาการเพื่อดูแลสุขภาพและกำหนดน้ำหนักตัวที่เหมาะสม
การดื่มแอลกอฮอล์อาจมีผลให้ระดับโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์สูงได้ ตรวจปรึกษาแพทย์เพื่อกำหนดระดับการดื่มแอลกอฮอล์ที่เหมาะสม หรือว่าไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เลย
13. ถาม อาหารประเภทใดบ้าง ที่มีไขมันและโคเลสเตอรอล ?
ตอบ โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์จากสัตว์โดยมากมักจะมีไขมันและโคเลสเตอรอลสูงควรหลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัว เช่น น้ำมันหมู น้ำมันที่ผ่านกระบวนการลดกลิ่นหืนไฮโดรจีเนต อาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ได้แก่ เนื้อวัว ผลิตภัณฑ์จากนมสด เนย ครีม ไอศกรีม เนยแข็ง และไข่ โดยเฉพาะเครื่องในสัตว์ เช่น ไต (เซี่ยงจี้), ตับ, ตับอ่อน มีโคเลสเตอรอลมาก หอยและสัตว์ทะเลมีเปลือก เช่น กุ้งมังกร ก็มีโคเลสเตอรอลมากเช่นกัน แต่มีไขมันไม่อิ่มตัวน้อยกว่า ไข่แดงมีโคเลสเตอรอลประมาณ 215 มก. (มิลลิกรัม) เมื่อเทียบกับเนื้อไก่ชิ้นบางๆ ขนาด 3-4 ออนซ์ หรือ 90-120 กรัม จะมี โคเลสเตอรอลประมาณ 72 มก.เท่านั้น ควรระวัง อาหารที่ปราศจากโคเลสเตอรอล โดยเฉพาะอาหารปรุงสำเร็จ อาจมีไขมันสูงได้ จึงควรอ่านฉลากอาหารเพื่อให้แน่ใจว่าอาหารนั้นไม่มีไขมันและโคเลสเตอรอล ไขมันไม่อิ่มตัวพบได้ในน้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันข้าวโพด ถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก และน้ำมันคาโนล่า จึงควรบริโภคไขมันไม่อิ่มตัวดีกว่าไขมันอิ่มตัว
14. ถาม การออกกำลังกายจะช่วยปรับระดับโคเลสเตอรอลให้ดีขึ้นได้อย่างไรตอบ ถ้าออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น ว่ายน้ำ การเดิน วิ่ง ถีบจักรยาน หรือ เล่นเทนนิส จะช่วยเพิ่มระดับ เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ และอาจลดระดับ แอล ดี แอล โคเลสเตอรอล การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอยังอาจช่วยลดน้ำหนักตัวและไขมันได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มแผนการออกกำลังกายใดๆ
15. ถาม เมื่อใดจึงจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อลดระดับโคเลสเตอรอล?
ตอบ ถ้าได้มีการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย และงดสูบบุหรี่ แล้วยังไม่สามารถทำให้ระดับโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ลดลงได้ แพทย์อาจสั่งยาให้เพื่อลดระดับ ไขมัน แต่ก่อนการสั่งยา แพทย์จะพิจารณาหลายๆ อย่าง เช่น ปัจจัยเสี่ยงที่แปรเปลี่ยนได้ (อาหาร การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่) อายุ สภาพร่างกายในขณะนั้น และอาการ ข้างเคียงจากการใช้ยา
16. ถาม ต้องรับประทานยาลดโคเลสเตอรอลไปนานเพียงใด?
ตอบ สำหรับผู้ที่ต้องรับประทานยาโคเลสเตอรอล ต้องปรึกษาแพทย์ และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง ซึ่งจำนวนยาและระยะเวลาในการรับประทานยาลดโคเลสเตอรอลของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับผลการรักษาและความสามารถในการเปลี่ยนพฤติกรรมที่มีผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ ไม่ควบคุมอาหาร และขาดการออกกำลังกาย แพทย์จะเป็นผู้สั่งยาลดโคเลสเตอรอลประเภทต่างๆ แล้วแต่ความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ผู้ป่วยโรคตับ หรือหญิงมีครรภ์ ฯลฯ
17. ถาม โดยปกติแล้วคนเราตรวจวัดระดับโคเลสเตอรอลบ่อยแค่ไหน?
ตอบ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าเมื่ออายุมากกว่า 20 ปี ควรตรวจวัดระดับโคเลสเตอรอลทุก 5 ปี นอกจากนี้ ผลการตรวจวัดระดับโคเลสเตอรอล และปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจของท่าน จะช่วยกำหนดว่าท่านควรตรวจโคเลสเตอรอลบ่อยแค่ไหน ตั้งแต่ ทุก 1 ถึง 5 ปี ส่วนใหญ่แพทย์จะให้คำปรึกษาในการวางแผนการตรวจวัดระดับ โคเลสเตอรอลของผู้ป่วย
18. ถาม แพทย์จะตรวจวัดระดับโคเลสเตอรอลอย่างไร?
ตอบ การตรวจเลือดเป็นวิธีที่ง่ายที่จะทำให้แพทย์ทราบระดับของโคเลสเตอรอล เพราะเมื่อเอาเลือดไปตรวจ ก็จะมีการวัดปริมาณของโคเลสเตอรอลออกมาเป็นหน่วยมิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (มก./ดล.) ของเลือด ท่านจึงควรถามแพทย์เรื่องผลการตรวจวัดระดับโคเลสเตอรอลทั้งหมด แอล ดี แอล โคเลสเตอรอล เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์
19. ถาม คนอายุเกิน 65 ปี ยังต้องคิดเรื่องการลดโคเลสเตอรอลหรือไม่?
ตอบ สถาบันโรคหัวใจ ปอด และโลหิตแห่งชาติแห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ตรวจ เพราะคนอเมริกันมีอัตราการเกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจสูงที่สุด ดังนั้น จึงควรควบคุมระดับโคเลสเตอรอลให้ลดลง เพราะเป็นการลดความเสี่ยงของการเกิดหัวใจวาย แม้ผู้สูงอายุที่ไม่เป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจก็ควรลดความเสี่ยงได้โดยการควบคุม ให้โคเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับต่ำ
20. ถาม การสูบบุหรี่ช่วยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจอย่างไร ?
ตอบ การสูบบุหรี่มีผลต่อการเกิดโรคหัวใจโดยมีผลร่วมกับปัจจัยเสี่ยงตัวอื่นๆ ซึ่งเพิ่มอัตราเสี่ยงของคุณให้ยิ่งสูงขึ้นไปอีก การสูบบุหรี่ทำให้ระดับ เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล ลดลง และเพิ่มโอกาสเกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดแดง ประมาณการว่าหนึ่งในห้าของ ผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจเกิดจากการสูบบุหรี่
21. ถาม นอกจากแพทย์ มีใครบ้างที่จะช่วยดูแลหรือให้คำแนะนำเรื่องการควบคุมระดับโคเลสเตอรอลที่สูงของผู้ป่วยได้?
ตอบ มีวิชาชีพอีกหลายสาขาที่สามารถให้คำแนะนำเรื่องการควบคุมโคเลสเตอรอลของผู้ป่วยได้ เช่น โภชนากรหรือนักโภชนาการสามารถอธิบายแผนการณ์เกี่ยวกับอาหาร และเสริมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารได้ และยังสามารถให้คำแนะนำในการเลือกซื้อและการเตรียมอาหาร และให้คำแนะนำในการเลือกรับประทานที่ดีต่อสุขภาพเมื่อต้องไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ท่านสามารถโทรศัพท์ไปยังสอบถามหน่วยโภชนาการของ โรงพยาบาลต่างๆ นอกจากนี้ โรงพยาบาลใกล้บ้าน หน่วยงานสาธารณสุขหรือแพทย์ใกล้บ้านก็อาจสามารถแนะนำเรื่องการรับประทานอาหารอย่างถูกวิธีให้ท่านได้ พยาบาลในสำนักงานของแพทย์ของคุณอาจจะสามารถช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับการควบคุมโคเลสเตอรอลที่สูงได้
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องไขมันเป็นผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะทางในการรักษาและควบคุมระดับโคเลสเตอรอล ในบางกรณีแพทย์ใกล้บ้านของท่านอาจแนะนำให้ท่านไปพบแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องไขมันโดยเฉพาะ เภสัชกรก็สามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับวิธีที่ดีที่สุดในการใช้ยาเพื่อลดโคเลสเตอรอล เพื่อให้แน่ใจว่ายานั้นมีประสิทธิผลมากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้และเพื่อลดความเสี่ยงของอาการค้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ และ/หรือการทำปฏิกิริยากันของยา เภสัชกรอาจมีวิธีการต่างๆ ที่จะช่วยให้ท่านได้ผลการรักษาที่ดีขึ้น
22. ถาม คนที่มีระดับโคเลสเตอรอลสูง ควรให้บุตรไปตรวจวัดระดับโคเลสเตอรอลหรือไม่?
ตอบ โดยปกติเด็กโดยมากไม่ต้องตรวจวัดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด แพทย์มักจะพิจารณาตรวจเมื่อเด็กอายุสองปีหรือมากกว่านั้น เมื่อพบว่าบิดา มารดามีระดับโคเลส-เตอรอลสูง (มากกว่า 240 มก./ดล.) หรือถ้าครอบครัวมีประวัติโรคหัวใจเมื่อยังอายุน้อย เด็กในครอบครัวที่ผู้ใหญ่มีระดับโคเลสเตอรอลสูงมีความเป็นไปได้มากที่เด็กจะมีระดับโคเลสเตอรอลสูงเช่นกัน
ถ้าเด็กจำเป็นต้องได้รับการตรวจวัดระดับโคเลสเตอรอล แพทย์จะตรวจวัดระดับโคเลสเตอรอลรวมทั้งหมดเป็นอย่างแรก อย่างไรก็ตาม ถ้าครอบครัวนี้มีประวัติการเป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุน้อย แพทย์อาจตรวจหาระดับ แอล ดี แอล โคเลสเตอรอลตั้งแต่แรก เลยได้
ที่มาข้อมูล : โครงการ "รักหัวใจ ใส่ใจโคเลสเตอรอล"
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : บริษัท ไนน์ อีสต์ จำกัด โทร. 0-2255-3620-1
ติดต่อ ปองปรัชญ์ / บุษบา--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ