กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--กระทรวงพลังงาน
เนื่องจากราคาต่ำเมื่อเทียบกับก๊าซธรรมชาติ ช่วยภาคธุรกิจอุตสาหกรรมสามารถแข่งขันได้ ลดความเสี่ยงปัญหาสายส่งจากภาคกลาง ซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซ และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้เต็มที่
ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน ได้หารือร่วมกันกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถึงประเด็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเฉพาะกรณีการสร้างโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งภาคเอกชนทั้ง 2 แห่ง เห็นร่วมกันถึงความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานซึ่งภาคใต้มีการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่เป็นเศรษฐกิจหลักสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในภาคใต้
ทั้งนี้ ทางเลือกเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้นั้น กระทรวงพลังงานและกฟผ. ได้ให้คำมั่นแก่ สอท. และสภาหอการค้า ถึงทางออกในการใช้เชื้อเพลิงเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ว่ายังเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสูงสุดในภาวะการณ์ปัจจุบัน เนื่องจาก จะช่วยสร้างสมดุลของการกระจายเชื้อเพลิงเพื่อสร้างความมั่นคงพลังงานในระยะยาว ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือแผน PDP ที่ต้องเพิ่มทางเลือกเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติที่มีการพึ่งพาสูงถึงร้อยละ 70 และลดความเสี่ยงจากการปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งจากความอ่อนไหวในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งยังขาดปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตเองได้ในภูมิภาค ทำให้ในปัจจุบันจำเป็นต้องส่งไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปเพิ่ม ซึ่งมีระยะทางไกลและอาจเกิดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันได้ดั่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว
นอกจากนี้ ความจำเป็นของทางเลือกเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ถือเป็นเชื้อเพลิงที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในประเทศ เนื่องจากมีราคาที่ไม่ผันผวน และยังมีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งจะช่วยเสริมให้ภาคธุรกิจสามารถลดต้นทุนจากค่าไฟฟ้า เสริมความเข้มแข็งในการแข่งขันในระดับภูมิภาคได้เพิ่มขึ้น รวมทั้ง การจัดการด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น กระทรวงพลังงานได้ยืนยันกับทาง สอท. และสภาหอการค้า ว่า โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดที่ได้ใช้ระบบ Ultra Super Critical (USC) เป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูง และได้รับการยอมรับจากสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) รวมทั้งยังมีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐานระดับสากล ไม่เกิดผลกระทบต่อภาพรวมการท่องเที่ยวและวิถีชีวิตของชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
ดร.อารีพงศ์ กล่าวเพิ่มว่า การหารือร่วมกับ สอท. และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงถึงการส่งเสริมพลังงานทดแทนในพื้นที่ภาคใต้ และพร้อมจะสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งการผลิตปาล์มน้ำมัน และชีวมวล โดยจะมีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กแบบผสมผสานในรูปแบบสัญญาเสถียร หรือ SPP Hybrid Firm และการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากแบบสัญญาเสถียรตามช่วงเวลาหรือ VSPP Semi-Firm ซึ่งจะช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังานในพื้นที่ภาคใต้เสริมจากการสร้างโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด