กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--แบงค์คอก ไรเตอร์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส
อพท. เจ๋งเตรียมขยายผลโมเดลท่องเที่ยวชุมชน ขยายผลความสำเร็จไปยังชุมชนใกล้เคียงจากสองชุมชนต้นแบบพัทยา ชูโปรแกรมเส้นทางท่องเที่ยว One-Day-Trip พลิกโฉมท่องเที่ยวพัทยาที่ไม่ได้มีดีแค่ความบันเทิง หวังเพิ่มวันพักและจับตลาดครอบครัวสนองนโยบายภาครัฐ พร้อมดึงชุมชนมีส่วนร่วมในท่องเที่ยว เพิ่มดัชนีความสุขสู่ชุมชน
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ความสำเร็จในการใช้องค์ความรู้ด้านท่องเที่ยวโดยชุมชนในการพัฒนา 2 ชุมชนในเขตพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง องค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เตรียมขยายผลด้วยการใช้โมเดลความสำเร็จของชุมชนจีนโบราณบ้านชากแง้วและชุมชนตะเคียนเตี้ยไปยังพื้นที่เชื่อมโยง สร้างเป็นเส้นทาง One-Day-Trip และกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มวันพำนักและทางเลือกให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ อันเป็นการเพิ่มสินค้าและทางเลือกด้านการท่องเที่ยวให้เมืองพัทยาในรูปแบบใหม่ มีการเข้ามาร่วมพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนในเขตเมืองพัทยาและพื้นที่ใกล้เคียงของ อพท. เพื่อมุ่งลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้จากท่องเที่ยวของเมืองพัทยา ให้ชาวบ้านได้ประโยชน์จากรายได้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเองด้วย
ทั้งนี้ อพท.ต้องการขยายเส้นทางท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง เพื่อเชื่อมกับ 2 ชุมชนต้นแบบ คือ ชุมชนตะเคียนเตี้ย และชุมชนชากแง้ว ตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปีนับจากนี้ โดยเชื่อว่าการเชื่อมเส้นทางท่องเที่ยวดังกล่าว จะช่วยเพิ่มวันพักของนักท่องเที่ยวขึ้นอีกหนึ่งคืนจากเดิมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2 คืน และเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวของพัทยาเพื่อให้สามารถจับตลาดครอบครัวโดยเชื่อมเส้นทางท่องเที่ยวกับบ้านชากแง้ว รวมถึงดึงตลาดงานสัมมนาและอบรมด้วยการนำผู้ร่วมงานไปเรียนรู้วิถีชุมชนโบราณของคนภาคกลางผ่านเส้นทางท่องเที่ยวสู่บ้านตะเคียนเตี้ย
เส้นทางแรกคือเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่บ้านชากแง้วอันเป็นชุมชนจีนโบราณ เส้นทางนี้สามารถเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้เคียง อันประกอบด้วย เขาชีจรรย์ วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร วิหารเซียน (เอนกกุศลศาลา) สถานที่ตั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 11 โครงการ และป่าสิริเจริญวรรษ
เส้นทางที่สองคือเส้นทางวิถีชุมชนภาคกลางโบราณสู่ชุมชนบ้านตะเคียนเตี้ย ชุมชนหนองปลาไหล และชุมชนเขาไม้แก้ว ทั้งสามชุมชนนี้มีความโดดเด่นเรื่องวัฒนธรรม อาหารถิ่น และการเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง วิถีชีวิตของคนภาคกลางโบราณซึ่งซ่อนตัวอยู่ในเขตการท่องเที่ยวที่เจริญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยอย่างเมืองพัทยา และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนต่างศาสนา
นายทวีพงษ์ กล่าวว่า ความสำเร็จจากการสนับสนุนของอพท. ก่อให้เกิดกระแสการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งอพท.ได้มีบทบาทในการเป็นองค์กรพี่เลี้ยงให้คนในชุมชนสามารถบริหารจัดการท่องเที่ยวได้เอง จนก่อให้เกิดการจัดตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านชากแง้ว และชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตะเคียนเตี้ย
สำหรับการต่อยอดไปยังพื้นที่ใกล้เคียงถือเป็นอีกก้าวสำคัญของอพท. เพื่อบรรลุพันธกิจการกระจายรายได้สู่ชุมชน เป็นการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจด้วยการสร้างชุมชนเข้มแข็ง เพื่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในอนาคตตามกรอบนโยบายของรัฐบาล
ทั้งนี้ ชุมชนจีนโบราณชากแง้ว เป็นชุมชนต้นแบบอีกแห่งหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมาก เป็นชุมชนเดียวในบรรดาพื้นที่พิเศษทั้งหมด 6 พื้นที่ของอพท. ที่มีถนนคนเดิน อพท. ได้ฟื้นคืนชีวิตให้ชุมชนแห่งนี้ จากพื้นที่ซึ่งแทบไม่มีผู้มาเยือน ให้กลายเป็นชุมชนที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวสู่ถนนคนเดินในท้องถิ่นทุกวันเสาร์ได้มากถึงวันละ 3,000 คน นักท่องเที่ยวแต่ละคนใช้จ่ายราว 500-1,000 บาท สร้างรายได้มากกว่า 1.5 ล้านบาทต่อวัน หรือราว 6 ล้านบาทต่อเดือน และสูงถึง 72 ล้านบาทต่อปีให้กับชุมชนเล็กๆ ที่มีคนอาศัยอยู่เพียง 200-300 ครัวเรือน
นอกจากความสำเร็จด้านการกระจายรายได้แล้ว นายทวีพงษ์ ยังกล่าวถึงความสำเร็จอีกประการหนึ่ง คือการนำลูกหลานของคนในพื้นที่กลับบ้านเกิด ทำให้เกิดการสืบสานวัฒนธรรมจีนโบราณของชุมชนที่มีอายุกว่า 100 ปี ผ่านกิจกรรมถนนคนเดินที่อพท. สร้างขึ้น
สำหรับชุมชนตะเคียนเตี้ย นายทวีพงษ์กล่าวว่า บ้านตะเคียนเตี้ยเป็นชุมชนที่มีการรวมตัวของชมรมแม่บ้านหลายกลุ่ม ทำให้มีสินค้าและบริการท้องถิ่นที่น่าสนใจ อาทิ ขนมทองพับ สมุนไพรไทย การนวดกัวซา การตัดพวงมโหตร และการใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของมะพร้าว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้สามารถตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตะเคียนเตี้ยได้ไม่ยาก
ชุมชนตะเคียนเตี้ยมีฐานกลุ่มศึกษาดูงานอยู่แล้ว การเข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้ของอพท.นั้น เป็นการต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ของชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น ในปัจจุบันชุมชนยังมีบริการจัดขันหมากแบบไทยโบราณ ซึ่งเป็นบริการที่หาได้ยากอีกด้วย ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตะเคียนเตี้ยกำหนดให้ผู้มาเยือนต้องนัดหมายล่วงหน้า เพื่อความสะดวกของผู้เยี่ยมเยือนและนักท่องเที่ยว