กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--ม.ธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาทันตแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม 2544
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาทันตแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2543 วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม 2544 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเกื้อหนุนพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ ให้พสกนิกรมีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะด้านสุขภาพช่องปาก ที่แสดงถึง พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาอันสูงส่ง ทางด้านทันตแพทยศาสตร์และความเป็นผู้นำ ในการเสริมสร้างทันตสาธารณสุขอย่างแท้จริง ด้วยทรงเห็นว่าปากเป็นประตูแห่งสุขภาพ ที่จะส่งผลให้สุขภาพร่างกายทั่วไปเป็นปกติดีได้ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทันตแพทย์ ที่ตามเสด็จฯ ขณะทรงเยี่ยมราษฎร ให้บริการทันตกรรมแก่ประชาชนในท้องที่ต่างๆ เหล่านั้น และทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง "หน่วยทันตกรรมพระราชทาน" ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2513 ซึ่งเป็นหน่วยเคลื่อนที่ส่วนพระองค์ ที่จัดตั้งขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อให้บริการแก่ประชาชนที่ยากไร้ และห่างไกล จึงกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้บุกเบิกและริเริ่ม งานทันตสาธารณสุขเพื่อชุมชนขึ้นเป็นพระองค์แรกในประเทศไทย ทรงเน้นให้เห็นถึง ความสำคัญของสุขภาพช่องปาก ทั้งในระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน และเป็นเหตุจูงใจ ให้อาสาสมัครทันตแพทย์ได้เจริญรอยพระยุคลบาท ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนออกให้บริการ แก่ประชาชนตามพระราชดำริ ทั้งนี้ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งหน่วย "ทันตกรรมพระราชทาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542
ด้านการวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ทางทันตแพทยศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานแนวคิดให้กับเหล่าทันตแพทย์อาสา ได้สนองพระราชดำริของพระองค์ และเป็นแรงกระตุ้นให้มีการศึกษา และค้นคว้าวิจัยสิ่งประดิษฐ์ขุดทำฟันภาคสนาม ที่สามารถผลิตได้เองในประเทศไทย ราคาประหยัด น้ำหนักเบา สามารถขนย้ายได้สะดวก เหมาะกับการใช้ในการปฏิบัติงานของหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ในปัจจุบัน พร้อมทั้ง ได้ทรงแนะนำให้ส่งเข้าประกวดสิ่งประดิษฐ์ของสภาวิจัยแห่งชาติ และได้รับรางวัลในปี 2539 เป็นผลให้มีการพัฒนาและศึกษาวิจัยการดำเนินงาน ทันตสาธารณสุขต่อไป อย่างไม่หยุดยั้ง จนงานทันตสาธารณสุขของประเทศไทย เป็นที่ยอมรับและเป็นตัวอย่าง สำหรับประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกในปัจจุบัน--จบ--
-นห-