กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--กรีนพีซ
เมื่อวานนี้ กรีนพีซเตือนประเทศไทยและฟิลิปปินส์กำลังเผชิญกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ท่วมเมือง ผู้ผลิตสินค้าต้องสำนึกรับผิดชอบ ไม่ใช้ส่วนประกอบมีพิษในการผลิต ขณะภาครัฐจะต้องให้สัตยาบันในข้อห้ามบาเซล ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ไม่อนุญาตให้ประเทศพัฒนาแล้วนำขยะเป็นพิษมาทิ้งยังประเทศโลกที่สาม
รายงานเรื่อง “มหันตภัยไฮเทคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ของกรีนพีซ ระบุว่า ปริมาณการบริโภคสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างมหาศาลโดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยและฟิลิปปินส์กำลังก่อให้เกิดอุตสาหกรรมการแยกชิ้นส่วนของส่วนประกอบที่เป็นพิษภายในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งสารพิษ สารเคมีปนเปื้อนยาวนาน และโลหะหนัก
ปัจจุบันขยะอิเล็กทรอนิกส์มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 20 — 50 ล้านตันทั่วโลก เมื่อเทียบกับปริมาณของขยะอื่นๆ โดยในแต่ละปีมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 12 ล้านตันเกิดจากผู้บริโภคในเอเชีย (1)
กิตติคุณ กิตติอร่าม ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ในประเทศไทย จำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์กำลังเพิ่มปริมาณมากขึ้นและจะก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรีนพีซพบว่า มีคนงานจำนวนมากที่คัดแยกชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยมือเปล่า และ เผาชิ้นส่วนมีพิษโดยไม่มีเครื่องป้องกันตัวเอง มีการทุบทำลายจอภาพ CRT และทิ้งชิ้นส่วนไว้ตามแหล่งน้ำซึ่งล้วนแต่ก่อให้เกิดมลภาวะ แหล่งน้ำและแหล่งชุมชนกลายเป็นที่รวมของขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้เป็นเพียงสัญญาณเตือนภัยของปัญหาใหญ่ที่กำลังตามมา โดยยอดขายคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ได้ถึงปริมาณของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ได้เป็นอย่างดี
ตัวเลขที่กรีนพีซอ้างไว้ในรายงานชี้ให้เห็นถึงอัตราการเพิ่มขึ้นของขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ซึ่งมีการนำเข้าโทรศัพท์มือถือระหว่างปี 2543 — 2546 ประมาณ 28 ล้านเครื่อง เฉพาะในปี 2546 มีการนำเข้าแบตเตอร์รี่โทรศัพท์มือถือ 43 ล้านก้อน เพิ่มขึ้น 43% จากปี 2545 ในไตรมาสแรกของปี 2548 ประเทศไทยมีคอมพิวเตอร์ใช้งานอยู่มากกว่า 2.6 ล้านเครื่อง หรือ ในทุก 100 ครัวเรือน มีคอมพิวเตอร์ใช้งาน 15.5 เครื่อง ซึ่งเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับปี 2547 ซึ่งในทุก 100 ครัวเรือน มีคอมพิวเตอร์ใช้งานอยู่ 11.7 เครื่อง (2)
นอกจากนี้ ตัวเลขจากหน่วยงานภาครัฐยังชี้ให้เห็นว่า ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2547 — พฤษภาคม 2548 มีการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มือสองมากถึง 265,000 ตัน จากญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี และสิงคโปร์ ในปี 2546 จำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 58,000 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้น 12% ในแต่ละปี และประมาณว่า ในปี 2549 จะมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอีก 3 ล้านชิ้น (3)
อัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้วจะถึงจุดที่ก่อให้เกิดวิกฤตได้ หากผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังคงผลิตและขายสินค้าที่มีชิ้นส่วนและอุปกรณ์เป็นพิษต่อผู้บริโภค โดยขาดความรับผิดชอบ
กิตติคุณ กล่าวว่า ในปัจจุบัน รัฐบาล ผู้เสียภาษี และ ชุมชนต่างๆ เป็นผู้แบกรับภาระในจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยบริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นผู้ได้รับผลกำไรมหาศาลจากการจำหน่ายสินค้าที่ก่อให้เกิดขยะพิษ โดยไม่สำนึกรับผิดชอบ
กรีนพีซรณรงค์เพื่อให้บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ชั้นนำทั่วโลก ล้างบางการผลิตที่ใช้ส่วนประกอบที่เป็นพิษ บริษัทหลายแห่งเช่น Samsung, Nokia, Sony, Sony Ericsson และ LG Electronics ให้คำมั่นสัญญาในการเลิกใช้สารเคมีเป็นพิษเช่น พีวีซี และ สารทนไฟทำจากโบรมีน ในกระบวนการผลิต โดยล่าสุดบริษัท Motorolaได้ให้คำมั่นสัญญาเช่นเดียวกันในการเลือกใช้วัสดุที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต
ขณะที่บริษัท Dell, IBM/Lenovo, HP, Siemens, Acer, Toshiba, Panasonic, Fujitsu-Siemens และ Apple ยังไม่ให้คำมันสัญญาใดๆ ในการเลิกใช้วัสดุที่เป็นพิษในกระบวนการผลิตสินค้าของตน
กิตติคุณ สรุปว่า ทางออกของการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในมือของผู้ผลิต บริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต้องหยุดการใช้ส่วนประกอบที่เป็นพิษในสินค้าของตน และ จัดตั้งระบบรับคืนสินค้าที่ไม่ใช้แล้ว ประเทศไทยและฟิลิปปินส์ควรจะให้สัตยาบันในข้อห้ามบาเซล ยิ่งไปกว่านั้นปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เราเห็นในจีน และ อินเดีย จะเกิดขึ้นจริงในภูมิภาคของเราในอนาคตอันใกล้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
กิตติคุณ กิตติอร่าม ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โทร. 01 372 1149
เอื้อพันธ์ ชำนาญเอื้อ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร. 01 928 2426
ดาวน์โหลดรายงานเรื่อง “มหันตภัยไฮเทคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ได้ที่ www.greenpeace.or.th--จบ--