กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--EXIM BANK
EXIM BANK ชี้ภาคการส่งออกของไทยในปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 2 เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เริ่มฟื้นตัว ขณะที่ตลาดใหม่หลายแห่งยังมีศักยภาพและมีความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยอยู่มาก EXIM BANK จึงเปิดบริการใหม่ สินเชื่อส่งออกพลัส (EXIM Export Credit Plus) เป็นเงินทุนหมุนเวียนพร้อมประกันการส่งออก ช่วย SMEs บุกตลาดส่งออกใหม่ๆ หรือขยายการส่งออกในตลาดเดิมอย่างมั่นใจ
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2559 และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2560 เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะตลาดใหม่และราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ ในขณะที่ตลาดหลักอย่างยุโรป จีน และญี่ปุ่นยังคงชะลอตัว ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังต้องจับตาความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองภายใน โอกาสของผู้ส่งออกไทยโดยเฉพาะ SMEs จึงมีอยู่ หากได้รับการสนับสนุนทางการเงินและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ในปี 2558 SMEs มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ช่วยสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยได้มากถึง 41% หรือ 5.6 ล้านล้านบาท สร้างมูลค่าส่งออกได้มากถึง 27% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย หรือประมาณ 2 ล้านล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานได้มากถึง 80% ของการจ้างงานรวม หรือประมาณ 10.8 ล้านคน
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยต่อไปว่า แนวโน้มการเคลมประกันการส่งออกทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 28% EXIM BANK จึงได้พัฒนาบริการใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านเงินทุนและการบริหารความเสี่ยงให้แก่ผู้ส่งออก SMEs เรียกว่า "สินเชื่อส่งออกพลัส (EXIM Export Credit Plus)" เพื่อให้ผู้ส่งออกและผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออกใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน สกุลเงินบาทหรือดอลลาร์สหรัฐ วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีแรก 4.5% ต่อปี ใช้หลักประกันเพียง 25% พร้อมรับกรมธรรม์ประกันการส่งออก ชดเชยสูงสุด 90% ของความเสียหายที่เกิดขึ้นกรณีไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ช่วยปิดความเสี่ยงของ SMEs ที่อาจประสบปัญหาเงินทุนหรือธุรกิจหยุดชะงักเนื่องจากผู้ซื้อในต่างประเทศไม่ชำระเงินค่าสินค้า
"EXIM BANK พัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง โดยใช้จุดแข็งและบริการที่แตกต่างของธนาคารในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs ที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างไม่สะดุด เติบโตอย่างมั่นคง และแข่งขันได้ในระยะยาว นำไปสู่การเติบโตของภาคการส่งออกและการพัฒนาประเทศของไทย ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการค้าและการเมืองของโลก" นายพิศิษฐ์ กล่าว