กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--มรภ.สงขลา
มรภ.สงขลา ทำแผนพัฒนาสหกิจศึกษา วางแนวทางพัฒนาการเรียนการสอนทันสมัย ได้มาตรฐาน ตรงตามความต้องการตลาดแรงงาน เชื่อช่วยนักศึกษาค้นพบศักยภาพ เลือกสายงานอาชีพถูกต้อง
นายฐปนพัฒน์ ปรัชญาเมธีธรรม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการอบรมจัดทำแผนและแนวทางพัฒนาสหกิจศึกษา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า มีจุดประสงค์เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นอาจารย์ที่เคยผ่านหลักสูตรนิเทศสหกิจศึกษา รวมถึงเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการที่ปฏิบัติงานในด้านนี้ นำความรู้ไปใช้พัฒนาการเรียนการสอนให้ทันสมัย ได้มาตรฐานและตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์สำคัญของ มรภ.สงขลา ในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน นอกจากนั้น ยังเป็นการเปิดวิสัยทัศน์ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ให้สอดคล้องต่อความต้องการของสถานประกอบการ และทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการ ประการสำคัญ การอบรมจัดทำแผนและแนวทางพัฒนาสหกิจฯ จะเป็นประโยชน์กับนักศึกษาในการค้นพบศักยภาพของตนเอง นำไปสู่การเลือกสายงานอาชีพได้ถูกต้อง ส่งผลให้มีโอกาสได้รับการเสนองานก่อนสำเร็จการศึกษา และเป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพและความพร้อมในการทำงานสูง
ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน กล่าวว่า การผลิตบัณฑิตหรือจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีความรู้ในวิชาการและวิชาชีพ มีคุณลักษณะตามหลักสูตรที่กำหนด การเรียนการสอนในยุคปัจจุบันใช้หลักการของการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ประเด็นยุทธศาสตร์ดังกล่าวจึงเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหลักสูตรและการเรียนการสอน เริ่มตั้งแต่การกำหนดปัจจัยนำเข้าที่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด ประกอบด้วย การมีอาจารย์ที่มีปริมาณและคุณภาพตามมาตรฐานหลักสูตร มีกระบวนการบริหารจัดการเรียนการสอนที่อาศัยหลักการร่วมมือ รวมพลังของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกสถาบัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการวางระบบการศึกษาที่จัดให้มีการเรียนสอนในสถานศึกษาสลับการการไปหาประสบการณ์ตรงจากการปฏิบัติงานจริง ณ สถานประกอบการอย่างมีระบบ
ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน กล่าวอีกว่า ด้วยความร่วมมือจากสถานประกอบการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รูปแบบสหกิจศึกษาได้รับความสนใจจากสถานศึกษาในการนำมาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในระดับปริญญาตรี เพื่อเป็นกลไกในการเตรียมความพร้อมด้านการประกอบอาชีพ และการเข้าสู่ระบบการทำงานของบัณทิต ก่อนสำเร็จการศึกษา และเพื่อพัฒนาคุณภาพของบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในรูปแบบสหกิจศึกษา คือ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนและการดำเนินงานด้านสหกิจ ตลอดจนแนวปฏิบัติที่ดี ด้านการดำเนินงานสหกิจของคณะและโปรแกรมวิชา ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายวิชาการ สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน โดยงานสหกิจศึกษา จึงได้จัดอบรมในครั้งนี้ขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้การดำเนินงานด้านสหกิจศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น