กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น
นายยศพงศ์ คุปตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า พลังงานทางเลือกหรือพลังงานชุมชนแบบพึ่งตนเองนับเป็นหนึ่งในนโยบายภาครัฐที่จะให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยการแสวงหาและพัฒนาพลังงานทางเลือก เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ดังนั้นการวางแผนพลังงานที่เกิดจากชุมชน ท้องถิ่น ย่อมก่อให้เกิดพัฒนาการในการเรียนรู้ของชุมชนด้านพลังงานพร้อมๆ กับการปลูกฝังและปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนในการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า ก่อให้เกิดพลังขับเคลื่อน ที่เป็นมิติใหม่ด้านพลังงานของประเทศ และยืนอยู่บนฐานของการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป
การนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมความสำเร็จโครงการการประยุกต์ใช้พลังงานสะอาดเพื่อพัฒนา การผลิตชาของวิสาหกิจชุมชนชาดอยปู่หมื่น ซึ่งเป็นที่แรกของประเทศที่พัฒนาเครื่องจักรแปรรูปชาโดยใช้พลังน้ำมาขับเคลื่อน นับเป็นต้นแบบของกระบวนการแปรรูปที่ใช้พลังงานสะอาด ที่มีการลดต้นทุนการผลิตด้านเชื้อเพลิงของการแปรรูปโดยใช้พลังงานสะอาดและลดการใช้ฝืนถ่าน 100% นำไปสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการออกแบบสร้างและพัฒนาเครื่องแปรรูปที่คำนึงถึงหลักการใช้งานง่าย จนประสบความสำเร็จคว้ารางวัลดีเด่นด้านพลังงานทดแทน เวที Thailand Energy Awards ประจำปี 2016
นายพิเชษฐ์ ทานิล อาจารย์ประจำสาขาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ กล่าวว่า ชุมชนดอยปู่หมื่น อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ มีรายได้จากผลิตภัณฑ์ชาเป็นหลัก ตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 1,300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่งผลให้ไม่มีไฟฟ้าใช้เพราะอยู่ห่างไกลจากระบบสายส่งของการไฟฟ้า ดังนั้นในแต่ละกระบวนการแปรรูปชาจึงต้องใช้เครื่องยนต์ดีเซลเป็นต้นกำลังขับเคลื่อนในกระบวนการหมุน และใช้เป็นต้นกำลังในการผลิตไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และใช้ไม้ฟืน ถ่าน ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงในการคั่ว ย่าง และอบใบชา อีกทั้งสภาพภูมิอากาศที่มีเมฆหมอกปกคลุมเกือบตลอดทั้งปี ทำให้ไม่สามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เนื่องจากเป็นชุมชนแหล่งต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์มีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี ทีมนักศึกษาและอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ จึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาแหล่งน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการเข้ากับวิถีการใช้พลังงานของชุมชนดอยปู่หมื่น ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยถือว่าแหล่งน้ำที่มีอยู่เป็นศูนย์กลาง และเป็นหัวใจของการพัฒนาในทุกๆ ด้าน พร้อมทั้งสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนดอยปู่หมื่น ด้วยการนำพลังงานน้ำมาผลิตไฟฟ้าและพลังงานกล แทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และไม้ฟืน เมื่อปี 2555 ชุมชนได้รับการสนับสนุนติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กระดับหมู่บ้าน ขนาดกำลังไฟฟ้า 30 กิโลวัตต์ ปัจจุบันคงเหลือเฉพาะการนำพลังงานน้ำไปใช้งานในรูปแบบของพลังงานกล และได้ออกแบบสร้างเครื่องตะบันน้ำเพื่อสูบน้ำจากแหล่งน้ำสะอาดไปใช้ในห้องคัดบรรจุชา ส่งผลให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในหลายมิติทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจ และสังคม
โครงการการประยุกต์ใช้พลังงานสะอาดเพื่อพัฒนาการผลิตชาของวิสาหกิจชุมชนชาดอยปู่หมื่น มีการใช้พลังงานน้ำแทนการใช้พลังงานสิ้นเปลืองในทุกกระบวนการแปรรูปชาที่มีอยู่เดิม โดยมีการติดตั้งเครื่องตะบันน้ำเพื่อสูบน้ำจากแหล่งน้ำสะอาด (ตาน้ำ) ไปใช้ในห้องคัดบรรจุชา ที่อยู่ในพื้นที่สูงกว่าแหล่งน้ำสะอาดถึง 30 เมตร อัตราการสูบน้ำ 19 ลิตร/นาที หรือ 1,140 ลิตร/ชั่วโมง ซึ่งได้พัฒนาลิ้นทิ้งน้ำและเพิ่มขนาดหม้ออัดอากาศ ส่งผลให้สูบน้ำได้มากกว่าลิ้นทิ้งน้ำที่มีขายตามท้องตลาด และได้พัฒนาเครื่องผึ่งชาโดยใช้ลมเย็น เพื่อลดขั้นตอนการผึ่งยอดชาสด ซึ่งเดิมชุมชนใช้เวลา 18 ชั่วโมง ลดลงเหลือ 8-10 ชั่วโมง โดยออกแบบชุดกังหันน้ำแบบเพลตันเพื่อไปขับเคลื่อนใบพัดลมเป่าลมเย็น และใช้ตะแกรงผึ่งชา Stainless 304 Industrial grade และมีความปลอดภัยต่ออาหาร อีกทั้งได้พัฒนาเครื่องแปรรูปชาโดยใช้พลังงานน้ำมาขับเคลื่อน ซึ่งชุดต้นกำลังเชื่อมต่อจากเพลาของกังหันน้ำ และใช้สายพานเป็นตัวส่งกำลังจากเกียร์ทดเพื่อขับเคลื่อนการหมุน เครื่องแปรรูป คือ เครื่องตัดยอดชาสด (ดัดแปลงจากเครื่องโม่เนื้อ) โดยมีกำลังการบด 40-50 กิโลกรัม/ชั่วโมง และพัฒนาเครื่องนวดชาทรงกระบอก อัตราการผลิต 15-20 กิโลกรัม/ครั้ง โดยที่ระบบทั้งหมดซึ่งได้ต้นกำลังมาจากพลังงานน้ำที่สร้างขึ้นเพื่อทดแทนการใช้น้ำมันดีเซล ทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 109,620 บาทต่อปี ผลสำเร็จที่ได้จากโครงการสามารถแปลงพลังงานน้ำเป็นพลังงานไฟฟ้าและพลังงานกลใช้ทดแทนเครื่องยนต์ดีเซลได้ประมาณ 3,654 ลิตร/ปี หรือเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 9.8 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี และที่สำคัญโครงการนี้ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในหลายมิติทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจ และสังคม โดยมีผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมในแต่ละด้าน มีดังนี้
ด้านแหล่งน้ำ ป่าจะถูกรักษาไว้จากการที่ชุมชนไม่ใช้ไม้ฟืนในการคั่วชา (การผลิตชาดำแบบใหม่ไม่มีขั้นตอนการคั่ว) และป่ามีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปีสำหรับการอุปโภค บริโภค และได้น้ำสะอาดสำหรับการผลิตชา อีกทั้งชุมชนใช้พลังงานน้ำที่มีอยู่เป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหาของชุมชนเอง ดังนั้นชุมชนจะช่วยกันรักษาป่าต้นน้ำ เพราะถ้าไม่มีป่า ก็ไม่มีน้ำ และเกิดประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
ด้านเศรษฐกิจ ชาดำดอยปู่หมื่น ผ่านกระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานสะอาดแทนการใช้พลังงานสิ้นเปลืองในทุกรูปแบบ จึงได้รับการรับรองตามมาตรฐานของ USDA Organic (US Department of Agriculture) ซึ่งเป็นตรารับรองอาหารและผลิตภัณฑ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับการรับรองตามมาตรฐานของ International Organic Standards (EU Equivalent) ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกต่อไป และปัจจุบันชุมชนสามารถขายชาได้ในราคา 2,300 บาทต่อกิโลกรัมชาแห้ง (เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 30 เท่า) ส่งผลให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ชุมชนลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และลดการใช้ไม้ฟืน ทำให้ลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อม และพลังงานน้ำจะสร้างสภาพแวดล้อมที่สะอาด รวมทั้งสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชุมชน ผลลัพธ์เหล่านี้ส่งผลให้ชุมชนเกิดความสามัคคีภายในชุมชน ซึ่งจะทำให้เกิดการเสริมสร้างงาน เกิดความสามัคคี เกิดอุดมการณ์และส่งเสริมให้รักถิ่นฐาน มีความเชื่อมั่นและศรัทธาในตัวเอง ป้องกันการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวไทยภูเขาเพื่อความมั่นคงตามบริเวณชายแดนได้