กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--คอร์แอนด์พีค
เยาวชนไทยจากมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ประสบความสำเร็จในการเข้าร่วมการแข่งขันกิจกรรม "คนรุ่นใหม่หัวใจนักสื่อสาร ด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" โดยความร่วมมือของมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TBCSD) และรายการ "รู้สู้ภัยพิบัติ" ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งจากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีเยาวชนนักศึกษากว่า 20 สถาบันเข้าร่วมการแข่งขันเป็นจำนวนมาก โดยการแข่งขันผู้เข้าแข่งขันจะต้องนำเสนอผลงานผ่านอินโฟกราฟิก ,ภาพยนตร์สั้นหรือภาพยนตร์สารคดี ความยาวไม่เกิน 5 นาที โดยผลการตัดสินในรอบสุดท้าย ปรากฏว่า ทีมที่ส่งเข้าประกวดจากมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ สามารถคว้ารางวัลได้ถึง 3 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศได้แก่ ทีม Step By Step จากคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ประกอบด้วยทีมงาน จำนวน 5 คน ได้แก่ 1.นางสาวนพเก้า จิรูปถัมภ์ 2.นางสาวธิดารัตน์ มากรักษา 3.นายฐนปกร รัตนเวส 4.นายกานต์เลิศ กฤษณสุวรรณ และ5.นางสาวกิติยา บุญใหญ่ ผลงานที่ได้รับรางวัล เป็นภาพยนตร์สารคดีสั้นเรื่อง วิกฤตภัยแล้ง นอกจากนี้ทีมจากมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ยังสามารถคว้ารางวัลเพิ่มเติมอีก 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ทีม Extreme จากภาพยนตร์แอนิเมชั่น เรื่อง สารานุกรมน้ำท่วม และ รางวัลชมเชย ทีม Eclipse จากภาพยนตร์สั้น เรื่องป่าโกงกาง
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ นักศึกษา ที่ได้รับการคัดเลือก จะได้รับการเผยแพร่ไปยังช่องทางต่าง ๆ เช่น สื่อรายการโทรทัศน์ เว็บไซต์และเฟสบุ๊ก โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการเสริมสร้างการรับมือของเมืองต่อการพัฒนาเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นับเป็นความท้าทายที่สำคัญของสังคมไทย เนื่องจากนี้เป็นประเด็นใหม่ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดความเข้าใจที่ตรงกัน ไปจนถึงการขาดสื่อมวลชน ที่มีความรู้ความเข้าใจและความเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นางสาวนพเก้า จิรูปถัมภ์ หัวหน้าทีม ทีม Step By Step จากคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สาขาดิจิทัลมีเดียชั้นปีที่ 3มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ กล่าวว่า ก่อนที่จะเริ่มร่างสคริปต์ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ ได้ปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ อาจารย์จิรพงษ์ เหล่าชัยพฤกษ์, อาจารย์วลัยภรณ์ สนธิและ อาจารย์จิราภรณ์ ปรากฏ เพื่อหาสถานที่ถ่ายทำ และประชุมทีมร่วมกัน จนได้พื้นที่เป้าหมาย คืออำเภอขามสะแกแสง จังหวัดนครราชสีมา การลงพื้นที่จริง ได้ดำเนินการตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นเวลากว่า 3 เดือนจนถึงเดือนมกราคม ปัญหาวิกฤตของพื้นที่นี้ คือ ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอกับพื้นที่การเกษตรและการบริโภค ในภาพยนตร์สารคดีสั้นชุดนี้ จึงนำเสนอเรื่องราวของความร่วมมือระหว่างชาวบ้านกับกล่มผู้นำชุมชน ที่มีการนำเอาแผงโซ่ล่าเซลล์มาใช้ประโยชน์โดยใช้หลักการพลังงานแสงอาทิตย์ ในการหักเหของแสง ผ่านกระบวนการดึงน้ำจากใต้ดินมาใช้ประโยชน์ นอกจากนี้กลุ่มชาวบ้านยังช่วยกันขุดหาแหล่งน้ำบาดาลมาใช้บริโภคและทำการเกษตรอีกด้วย รางวัลความสำเร็จในครั้งนี้ ถือเป็นความภูมิใจครั้งแรกที่ทำได้สำเร็จ โดยเงินรางวัลที่ทีมได้รับ จะนำไปใช้ในการพัฒนาทีม ซื้ออุปกรณ์กล้อง ให้มีความทันสมัยให้มากขึ้น เพื่อให้รุ่นน้อง ได้มีโอกาสเข้าร่วมเข้าแข่งขันในปีต่อ ๆ ไป