กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) โดยนายสมชาย หาญหิรัญ ประธานกรรมการ และนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. ร่วมแถลงข่าวเปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินงาน ธพว. ด้านการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยปี 2559 จัดอยู่ในระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานสูงมาก คือคะแนนร้อยละ 89.55 อยู่ลำดับที่ 13 ซึ่งถือเป็นลำดับสูงสุดของเกณฑ์การให้คะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ของ ป.ป.ช. โดยมีค่าคะแนนที่สูงกว่าปีที่ผ่านมา ปี 2558 ซึ่งเป็นปีแรกที่ธนาคารเข้าร่วมในการประเมินกับสำนักงาน ป.ป.ช. คะแนนอยู่ในระดับร้อยละ 79.44 หรือลำดับที่ 73 โดยเลื่อนขึ้นมา 60 ลำดับ มีระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานสูง ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญของระบบธรรมาภิบาล Corporate Governance: CG) ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักในการส่งเสริมให้ธนาคารเป็นสถาบันการเงินชั้นนำทางด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีการบริหารจัดการองค์กรอย่างเป็นเลิศ มีคุณธรรมในการดำเนินงาน มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ สร้างมูลค่าเพิ่มแก่กิจการในระยะยาว คุ้มครองผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจให้บรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กร ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ ธพว. จะนำไปใช้และถือปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดกลไกและระบบการบริหารจัดการที่ดีในธนาคาร อันจะนำไปสู่การเป็นสถาบันการเงินของรัฐปี 2560 หรือเป็นปีที่ 15 ของการก่อตั้งธนาคาร ที่มีความโปร่งใส มีความน่าเชื่อถือ สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อการนำไปสู่การพัฒนา SMEs อย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ ในปี 2557 ธพว. ได้ลงนามความร่วมมือเรื่องการขับเคลื่อนและป้องกันปราบปรามการทุจริตระหว่าง ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อเข้าร่วมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสฯ ดังกล่าว ลักษณะการประเมินแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.แบบสำรวจการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-Based Integrity and Transparency Assessment: EBIT) 2.ข้อมูลบุคลากรภายในหน่วยงาน ตามแบบสำรวจความคิดเห็นภายใน (Internal Integrity and Transparency Assessment: IIT) 3.ข้อมูลผู้รับบริการหรือผู้มีส่วนได้เสียของหน่วยงานตามแบบสำรวจความคิดเห็น (External Integrity and Transparency Assessment: EIT) ซึ่งผลการประเมินสูงมากดังกล่าวสะท้อนให้เห็นลักษณะทางบวกของ ธพว. ว่ามีการดำเนินงานที่มีคุณธรรมและความโปร่งใส โดยในปี 2560 ธพว. จะดำเนินการยึดมั่นในหลักคุณธรรมและความโปร่งใสอย่างต่อเนื่อง และนำข้อเสนอแนะจากสำนักงาน ป.ป.ช. มาเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้มีระดับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานอยู่ในระดับที่ดีมาก
นายมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า "ผู้บริหารและพนักงาน ธพว. ได้ประกาศเจตจำนงสุจริตโดยให้สัตย์ปฏิญาณถวายเป็นพระราชกุศลสตมวาร (100 วัน) น้อมนำพระราชดำรัสยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นแนวทางการปฏิบัติงานของธนาคาร พร้อมแจ้งเรื่องการยึดหลักธรรมาภิบาลให้กับหน่วยงานที่ทำธุรกรรมกับ ธพว. ได้ทราบและยึดถือปฏิบัติโดยทั่วกัน นอกจากนี้ ผู้บริหารและพนักงานธพว.ทุกระดับได้ร่วมใจกันตอบแบบรายงานความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เพื่อเน้นย้ำบทบาทการเป็นธนาคารที่ดำเนินงานอย่างโปร่งใส และช่วยป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมหรือการกระทำที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ได้"
ประธานกรรมการ ธพว. กล่าวถึง ความคืบหน้าการดำเนินโครงการ "กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ" ตามยุทธศาสตร์รัฐบาลที่ได้รับอนุมัติจากงบประมาณกลางปี 2560 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2560 ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้มีอำนาจตามกฎหมาย ซึ่งในระหว่างนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ ธพว. ในฐานะหน่วยงานร่วมได้จัดเตรียมข้อมูลเพื่อกำหนดแนวทางการคัดเลือกประเภทธุรกิจเป้าหมายในการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) ของแต่ละจังหวัด คุณสมบัติของกลุ่มเป้าหมายที่จะมาเข้าร่วมกองทุน และแนวทางหลักเกณฑ์การพิจารณาของคณะอนุกรรมการในระดับต่างๆ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ และแนวทางข้างต้นจะต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐก่อน จึงจะสามารถนำไปปฏิบัติจริงได้ ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ พร้อมที่เริ่ม Kick off เปิดตัวโครงการ "กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ" ในวันที่ 10 มีนาคม 2560 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยจะเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ตัวแทนหน่วยงานร่วม เข้าร่วมงาน โดยกองทุนนี้ เป็นสินเชื่อที่กระตุ้นให้ผู้ประกอบการ SMEs ลงทุนเพื่อส่งเสริมศักยภาพเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) ตามยุทธศาสตร์ SMEs 4.0 และ S-Curve ประจำจังหวัดต่างๆ
ทั้งนี้ ธพว. กำลังเร่งดำเนินงานตามนโยบายของคณะกรรมการธนาคารให้เป็นไปตามภารกิจการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา หรือ Development Bank อย่างเต็มตัว เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศ และเป็น SMEs Solution คอยช่วยเหลือ SMEs โดย ธพว. จะร่วมทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรพันธมิตรในภาพรวม เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้อยู่รอด สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ