กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำใช้การได้ใน 34 เขื่อนหลัก พบว่า มีน้ำใช้การได้ 21,781 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้ว 8,356 ล้าน ลบ.ม. (ปีที่แล้ว ณ วันเดียวกัน มีน้ำใช้การได้ 13,425 ล้าน ลบ.ม) ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ณ ปัจจุบัน ( 21 ก.พ. 60) มีน้ำใช้การได้ 7,211 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้ว 4,110 ล้าน ลบ.ม. (ปีที่แล้ว ณ วันเดียวกัน มีน้ำใช้การได้ 3,101 ล้าน ลบ.ม.) นอกจากนี้ ช่วงฤดูแล้งในระหว่างเดือน ก.พ. – เม.ย. 60 กรมชลประทานได้มีการทำวิเคราะห์โดยการทำสมดุลน้ำร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ GISTDA กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ตรวจสอบสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศที่มีความสุ่มเสี่ยง พบว่า ในระดับอำเภอมีปริมาณน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเพียงพอ ไม่มีอำเภอที่ขาดน้ำ และคาดว่าจะเพียงพอในช่วงฤดูแล้ง ก.พ. – เม.ย. 60 อย่างไรก็ตาม อำเภอที่คาดว่าจะขาดน้ำเพื่อการเกษตร ในช่วง ก.พ. – เม.ย. 60 มี 105 อำเภอ รวม 34 จังหวัด (จากทั้งหมด 887 อำเภอในประเทศไทย) โดยอยู่นอกเขตชลประทานซึ่งมีพื้นที่ที่ใกล้วิกฤติและเฝ้าระวัง (เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มี 152 อำเภอ 42 จังหวัด)
"กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานได้วางแผนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวะที่ผ่านมาเกิดปัญหาภัยพิบัติเพิ่มเติมในภาคใต้ และฝนตกหนักทุกภาค ขณะนี้จึงวางแนวทางเอาไว้โดยกำลังพิจารณาใหม่ว่า ในแผนระยะ 5 ปี คือ 25610 – 2564 อาจต้องมีการปรับเลื่อนแผนงาน คือ ในปี 2560 – 2561 อาจต้องเลื่อนแผนงานในปี 2562 – 2563 มาดำเนินการด้วย และให้กรมชลประทานทบทวนแผนเดิมเพื่อแก้ปัญหาต่อไป" พลเอกฉัตรชัย กล่าว
ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำ หลังวันที่ 22 พ.ค. 2557 – ปัจจุบัน ประกอบด้วย แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ 5 และ 20 ปี แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 58 - 69 (แผน 20 ปีอยู่ระหว่างการปรับปรุง) และแผนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 5 ปี (ปี 60 - 64) นอกจากนี้ ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำมีความเป็นรูปธรรมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น เป็นผลมาจากแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 6 ข้อ ได้แก่ 1. การจัดการน้ำอุปโภค 2. สร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิต (เกษตร/อุตสาหกรรม) 3. การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4. การจัดการคุณภาพน้ำ น้ำเสีย/น้ำเค็ม 5. การอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป้องกันการพังทลายดิน และ 6. การบริหารจัดการ ซึ่งจากแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจะเกี่ยวข้องกับ 13 กิจกรรม คือ 1. การสร้างอ่างเก็บน้ำ 2. ฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำ, แหล่งน้ำเดิม (หน่วยงานอื่น) 3. ขุดลอกลำน้ำ (หน่วยงานอื่น) 4. ฝาย 5. แก้มลิง 6. ระบบส่งน้ำชลประทาน 7. ระบบระบายน้ำ 8. ประตูระบายน้ำ 9. สถานีสูบน้ำ 10. โครงการปรับปรุง 11. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ 12. โครงการศึกษาสำรวจออกแบบ และ 13. ระบบผันน้ำ
สำหรับผลการดำเนินงานรายภาคว่า ในช่วงปี 2445 – 2557 มีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 79,677.43 ล้าน ลบ.ม. และก่อน 22 พ.ค. 2557 (2555 - 2557) มีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 284.47 ล้าน ลบ.ม. ส่วนหลัง 22 พ.ค.2557 – ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 1,613.33 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมจากแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และในปี 2560 มีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 419.87 ล้าน ลบ.ม.