กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--ม.ธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม 2543
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาพัฒนาชุมชนดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ) แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา) แด่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2542 วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม 2543 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ และพระราชทาน แนวพระราชดำรินานัปการ ที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาอันสูงยิ่ง ทางด้านการพัฒนาและการพัฒนาชุมชน พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน ที่สำคัญโดดเด่น และมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อพสกนิกรชาวไทย มีสองสถานคือ ภาคปฏิบัติ ได้แก่ การพัฒนาตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งปัจจุบัน ได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จไปแล้วถึงประมาณ 3,000 โครงการ และภาควิชาการ ได้แก่ ทฤษฎีการพัฒนา "ทฤษฎีใหม่ : New Theory" และ แนวพระราชดำริเศรษฐกิจ พอเพียง : Sufficiency Economy ที่พระราชทานให้เป็นปรัชญา ในการพัฒนา ประเทศอย่างมีจริยธรรม และคุณธรรมแห่งความพอเพียง เป็น "มิติใหม่ทางความคิด ด้านการพัฒนา" ที่พ้นเพดานความคิดแบบตะวันตก มีลักษณะพหุนิยม ไม่สร้างความ ขัดแย้งในสังคม ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการแก้ปัญหาในห้วงเวลาที่ประเทศไทย ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงได้เป็นอย่างดี และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ทั้งในประเทศไทย และนานาอารยประเทศ ว่าเป็นแนวคิดทฤษฎีด้านการพัฒนา ที่ทรงคุณค่าและจะเป็นแนวทางสำคัญ สำหรับการพัฒนาของมนุษยชาติในอนาคตการพัฒนาชุมชนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นไปตามลำดับขั้นตอน ตามความจำเป็น ทรงมุ่งช่วยเหลือพัฒนาให้เกิดการพึ่งตนเองได้ของคนในชนบท ให้ความสำคัญต่อปัญหาและความต้องการของราษฎรในพื้นที่มากเป็นพิเศษ เน้นให้การพัฒนา จะต้องเป็นไปตามสภาพภูมิศาสตร์และสังคมวัฒนธรรมของแต่ละ พื้นที่ ทรงมีเป้าหมายการพัฒนา "คน" และการพัฒนา "ชุมชน" ตามยุทธศาสตร์ การพัฒนา ที่มองรอบด้านในลักษณะองค์รวม เพื่อจะสามารถแก้ไขปัญหาทุกๆ อย่าง ทุกๆ ด้านไปพร้อมๆ กัน และทรงมุ่งเน้นการช่วยเหลือให้สามารถช่วยตนเองได้ ดังหลักการสำคัญทางการพัฒนาชุมชนที่พระราชทานไว้ตอนหนึ่งว่า "เราช่วยเขาเพื่อให้เขาสามารถช่วยตนเองได้ต่อไป"
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงพระปรีชาสามารถ ในสรรพวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นที่ประจักษ์แจ้ง และได้รับ การยกย่องเชิดชูพระเกียรติยศทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทรงประกอบพระกรณียกิจ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอเนกประการ อันนำมาซึ่งความก้าวหน้า เป็นประโยชน์สุข แก่พสกนิกรและวงการวิทยาศาสตร์ไทยอย่างแท้จริง ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองไอน์สไตน์ จากโครงการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ ซึ่งนับเป็นบุคคลที่ 3 ของโลก
นอกจากนี้ ทรงเป็นชนชาติเอเชียพระองค์แรก ที่ราชสมาคมเคมีของสหราชอาณาจักร ขอพระราชทานกราบทูลเชิญ ให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ เป็นต้น ในฐานะที่ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักพัฒนา พระองค์ทรงตระหนักถึงบทบาท ของนักวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ ตลอดจนข้อจำกัดต่างๆ ที่ไม่เอื้ออำนวย ให้นักวิทยาศาสตร์ไทยที่มีความรู้ความสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทรงสถาปนาสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ขึ้น โดยมีพระประสงค์ให้เป็นศูนย์รวม แห่งความร่วมมือร่วมใจของนักวิทยาศาสตร์ ในการผลิตผลงานอันเป็นประโยชน์ เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศ ทรงมุ่งมั่นให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ทรัพยากรบุคคล การพัฒนางานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์อย่างมั่นคงและต่อเนื่อง ทั้งให้เป็นสื่อกลางในการระดมแหล่งทุนตลอดจนข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นต่อการวิจัย โดยในระยะแรก พระองค์ทรงวางแนวทางการศึกษาวิจัยไว้ 3 แนวทางคือ การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และผลผลิตจากการเกษตร การศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางป้องกันและบริหารจัดการ เกี่ยวกับสารเคมีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย และการศึกษาเกี่ยวกับ พยาธิชีววิทยาของโรคต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ เป้าหมายสูงสุดที่พระองค์ทรงกำหนดไว้คือ การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ของประชาชนชาวไทย นอกจากพระกรณียกิจ ของพระองค์ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่ได้กล่าวแล้ว ยังมีโครงการด้านสุขภาพอนามัย ที่สำคัญๆ หลายโครงการที่ได้ทรงริเริ่มเพื่อหน่วยงานอื่นๆ ให้ความสนใจและดำเนินการ ต่อไป ได้แก่ โครงการต่อต้านโรคเอดส์ โครงการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า โครงการเร่งรัดการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค และโครงการก่อตั้งศูนย์วิจัยศึกษา และบำบัดโรคมะเร็ง เป็นต้น
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อสังคมไทยปัจจุบัน ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขสงฆ์ พระองค์ทรงปฏิบัติภารกิจได้อย่างครบถ้วน ทรงเป็นผู้ปกครองผู้เที่ยงธรรม มั่นคงในพระธรรมวินัย ทะนุบำรุงและปกป้องพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะด้านการเผยแผ่ธรรม ทรงเทศนาสอนธรรมะแก่ประชาชนเป็นประจำ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงประกาศพระพุทธศาสนาในต่างประเทศเป็นครั้งคราว และทรงประทานโอวาทให้ ประชาชนทั่วไปในวันสำคัญต่างๆ นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มให้แปลหนังสืออธิบายธรรม ในพระพุทธศาสนาเป็นภาษาต่างประเทศ เพื่อเป็นการเผยแผ่ และเป็นคู่มือการศึกษาพระพุทธศาสนาสำหรับชาวต่างประเทศ ส่วนในด้านสาธารณูปการ ได้เป็นประธานกรรมการอุปการะฝ่ายบรรพชิต ในการก่อสร้างตึก ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ร่วมกับสภากาชาดไทยสร้างตึก วชิรญาณวงศ์ และตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาลเป็นตึกสงฆ์ และใช้ประโยชน์ ทางการแพทย์ สำหรับในการพระอารามนั้น ได้เอาใจใส่ ควบคุมดูแลและบูรณะ ปฏิสังขรณ์ปูชนีย์วัตถุสถานตลอดจนสิ่งก่อสร้างต่างๆ ทั้งในเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส ให้ดำรงสภาพที่มั่งคงถาวรและเรียบร้อยงดงาม ทั้งได้สร้างอาคารขึ้นใหม่อีกหลายหลัง อาทิ ตึก สว.ธรรมนิเวศ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นับว่าสมเด็จพระญาณสังวรฯ เป็นผู้มีปรีชาสามารถยิ่ง ในการปกครองทนุบำรุง พระอารามหลวงที่มีความสำคัญ ให้เจริญรุ่งเรืองสมพระราชประสงค์
อนึ่ง เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชและประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระญาณสังวรฯ ได้รับหน้าที่เป็นพระอภิบาลโดยตลอด และต่อมาได้เป็นผู้ถวาย พระธรรมเทศนา พระมงคลวิสสกถาในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ปีพุทธศักราช 2507 และได้ถวายสืบต่อจากสมเด็จพระสังฆราชวาสนามหาเถระ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2525 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน--จบ--
-นศ-