กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--กทม.
วันที่ 29 พ.ค.43 เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุมศูนย์บัญชาการกรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการยาเสพติดแห่งชาติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ศ.ปส.ก) ครั้งที่ 1/2543 โดยมีนายถิรชัย วุฒิธรรม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ รองปลัดกรุงเทพมหานคร พล.ต.ท. นภดล สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะกรรมการของ ศ.ปส.ก. ร่วมประชุม
นายจุรินทร์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้ได้มาประชุมกับ ศ.ปส.ก. ซึ่งถือว่ากรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากมีประชาชนอาศัยอย่างหนาแน่น หากได้มีการแก้ไขปัญหาของยาเสพติดในพื้นที่กทม. ให้บรรเทาเบาบางลงได้ก็อาจเรียกได้ว่า 1 ใน 10 ประชากรของประเทศก็ได้รับการแก้ไขและบรรเทาเรื่องยาเสพติดได้
ในส่วนของการมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานนั้นได้ขอให้ ศ.ปส.ก. ปรับปรุงเรื่องฝ่ายอำนวยการหรือฝ่ายเลขาฯ ของศูนย์ฯ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานทุกเรื่อง อาทิ เรื่องงบประมาณ แผนงาน ข้อมูลการประสานงาน ฯลฯ ภายใน ศ.ปส.ก. และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
ส่วนนโยบายภาพรวมที่มอบให้ ศ.ปส.ก. ดำเนินการมี 3 ด้านใหญ่ๆ ได้แก่ ด้านการป้องกัน ขอให้เร่งรัดจัดตั้งชุมชนเฉลิมพระเกียรติปลอดยาเสพติดที่กรุงเทพมหานครขึ้นมา โดยสิ้นปี 2544 จะต้องจัดตั้งชุมชนฯ ให้ได้อย่างน้อย 25 % ของ 1,580 ชุมชน ตลอดจนเร่งรัดการจัดตั้งโรงเรียนสีขาวปลอดยาเสพติดเฉลิมพระเกียรติที่อยู่ในความรับผิดชอบของกทม. จำนวน 431 แห่ง โดยสิ้นปี พ.ศ.2544 ให้ ศ.ปส.ก.ดำเนินจัดตั้งโรงเรียนสีขาวให้ได้ไม่น้อยกว่า 50 % เร่งรัดจัดตั้งลานกีฬาให้มากกว่าเดิมที่ทำมาแล้ว ปัจจุบัน
กทม. มีลานกีฬา จำนวน 1,057 ลาน ส่วนบางลานกีฬาที่ยังมีปัญหาอุปสรรคก็ให้สำนักงานเขตทำการแก้ไขและปรับปรุง และให้มีการจัดตั้งลานเยาวชน โดยมีเงื่อนไขคือ ห้ามมีแอลกอฮอล์และยาเสพติดเกี่ยวข้องเด็ดขาด ทั้งนี้เพื่อต้องการให้เยาวชนมีสถานที่พบปะกันบ้าง เพื่อเป็นจุดที่ทำให้เยาวชนไม่หันไปหายาเสพติด เช่น บริเวณลานคนเมือง จตุจักร ส่วนกลุ่มมุสลิม ก็ขอให้รับนโยบายจากคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีการสั่งการมาอีกครั้งหนึ่ง โดยมีแนวทางว่าจะใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลางรณรงค์แก้ไขปัญหายาเสพติดของชุมชนและจะใช้มาตรการทางสังคมเพิ่มเติมแก่ผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนด้านการปราบปราม คือ ให้เร่งรัดจัดทำแผนกวาดล้างพื้นที่ จำนวน 15 พื้นที่เขตปกครองของกทม. ตลอดจนเตรียมการจัดตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษและจะมอบรายชื่อผู้ค้ายาเสพติดในกรุงเทพมหานครให้รับไปดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งจะมีการประชุมฯ ในวันที่ 7 มิ.ย.ที่จะถึงนี้
นอกจากนี้ขอให้ 34 สน.ท้องที่ ในกรุงเทพมหานครประสานงานกับศูนย์ปฏิบัติการยาเสพติดแห่งชาติ ในการจัดงบประมาณเข้ามาอุดหนุนเพื่อเพิ่มความเข้มข้นในพื้นที่ความรับผิดชอบแต่ละสน.ท้องที่ โดยจะมีการประชุมในวันที่ 19 มิ.ย.43
ส่วนการปฏิบัติอื่น ๆ ได้ขอให้มีการเพิ่มความถี่ในการกวาดล้างยาเสพติด และให้ความสำคัญกับเรื่องร้องเรียนของประชาชนไม่ว่าจะผ่านมาทางสื่อประเภทใด ตลอดจนขอให้มีการจัดการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างจริงจังที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด รวมทั้งใช้มาตรการทางการบริหารให้มีความรวดเร็ว และขอให้ ศ .ปส.ก. เร่งกวดขันสถานประกอบอย่างน้อย 5 ประเภท ได้แก่ สถานบริการ , หอพัก คอนโดมิเนียม, สถานีบริการน้ำมัน, สมาคมสนุ๊กเกอร์ บิลเลียด, โรงงานอุตสาหกรรม (ถ้ามี) ทั้งนี้ ศ.ปส.ก. สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายยาเสพติด ปี 2519 (แก้ไขใหม่) ได้ หากพบว่ามีสถานประกอบการกระทำผิดกฎหมาย โดยจะสั่งปิดกิจการได้ครั้งละไม่เกิน 15 วัน
ด้านการบำบัดรักษา ได้มอบหมายให้ ศ.ปส.ก. เร่งรณรงค์ให้ผู้ติดยาเสพติดเข้าทำการรักษาฯ โดยสมัครใจ ซึ่งจะถือเสมือนว่าเป็นผู้ป่วย รวมถึงจะไม่ดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย--จบ--
-อน-