กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.จัดประชุมอำนวยการ ติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน ปี 2560 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 65 จังหวัดเสี่ยงไฟป่า โดยประสานจังหวัดใช้กลไก "ประชารัฐ" ขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงรุกอย่างเข้มข้นตามแนวทาง "3 มาตรการเชิงพื้นที่ 4 มาตรการบริหารจัดการ" ครอบคลุมทั้งพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ริมทางหลวง กำหนดช่วงเวลาและจัดระเบียบการเผา ประกาศเขตห้ามเผา และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกับผู้ที่ลักลอบจุดไฟในพื้นที่ห้ามเผา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการ "ควบคุมปัญหาไฟป่า" และ "วิกฤตหมอกควันเป็นศูนย์"
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ช่วงปลายฤดูหนาวต่อเนื่องฤดูร้อน หลายพื้นที่ของประเทศมักประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยเฉพาะ 9 จังหวัดภาคเหนือ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 เห็นชอบแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี พ.ศ.2560 ตามกรอบแนวคิดที่เน้นกลไกประชารัฐและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการควบคุมการเผา การระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนในการเฝ้าระวังและป้องกันการเผาในพื้นที่เสี่ยง ควบคู่กับการเสริมสร้างความรู้เพื่อสร้างความตระหนัก พร้อมบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่ลักลอบเผา ภายใต้ระบบศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จของผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อบูรณาการเตรียมพร้อมรับมือไฟป่าหมอกควันล่วงหน้าและแก้ไขปัญหาในมิติเชิงพื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัย รวมถึงบริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) จึงได้จัดประชุมอำนวยการ ติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน ปี 2560 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 65 จังหวัดเสี่ยงไฟป่า แยกเป็น เสี่ยงสูง 25 จังหวัด เสี่ยงปานกลาง 28 จังหวัด และเสี่ยงน้อย 12 จังหวัด ซึ่ง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กำชับให้ขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงรุกผ่านกลไก "ประชารัฐ" เน้นการตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงภัยป่า พื้นที่การเกษตรที่มีการเผา และการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ควบคู่กับการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่และความถี่ในการลาดตระเวนเฝ้าระวังควบคุมการเผาในพื้นที่ รวมถึงดำเนินกิจกรรม "ชิงเผาก่อนช่วงวิกฤต" ในพื้นที่ ทั้งนี้ ได้กำหนดมาตรการสำคัญ "3 มาตรการเชิงพื้นที่ 4 มาตรการบริหารจัดการ" ดังนี้ มาตรการเชิงพื้นที่ ซึ่งระบุช่วงเวลา พื้นที่และหน่วยงานรับผิดชอบให้ชัดเจน ครอบคลุม 3 พื้นที่ ประกอบด้วย 1.พื้นที่ป่าไม้ มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการควบคุมการเผาในพื้นที่ป่าไม้ และบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบจุดไฟเผาอย่างเข้มข้น 2.พื้นที่เกษตรกรรม มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยในการกำหนดช่วงเวลาและจัดระเบียบการเผา ประกาศเขตห้ามเผา ส่งเสริมการจัดทำแนวกันไฟ และรณรงค์การไถกลบแทนการเผา 3.พื้นที่ริมทางหลวง มีกระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการเฝ้าระวังและควบคุมการเผาวัสดุทุกประเภทในเขตริมทางหลวง สำหรับ 4 มาตรการการจัดการ ประกอบด้วย 1.มาตรการบริหารจัดการ จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดและอำเภอ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นผู้บัญชาการ ทำหน้าที่อำนวยการ สั่งการ ระดมสรรพกำลังและทรัพยากรในการควบคุมและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างมีเอกภาพ 2.มาตรการสร้างความตระหนัก เน้นประชาสัมพันธ์ผลกระทบของไฟป่าและหมอกควัน บทลงโทษจากการลักลอบจุดไฟในพื้นที่ห้ามเผา พร้อมรณรงค์ปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันไฟป่า และแก้ไขปัญหาหมอกควัน 3.มาตรการลดปริมาณเชื้อเพลิง จัดทำแนวกันไฟและควบคุมการเผา ส่งเสริมการใช้สารหมักชีวภาพ เพื่อย่อยสลายตอซัง และรณรงค์การฝังกลบขยะและการไถกลบแทนการเผา 4.มาตรการประชารัฐ โดยกำหนดกติกาชุมชน มาตรการลดการเผาในพื้นที่ป่าไม้และเศษวัสดุทางการเกษตร รวมถึงสนับสนุนการแปรรูปวัสดุทางการเกษตร ซึ่ง ปภ. จะได้บูรณาการขับเคลื่อนการป้องกันไฟป่าและแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างเข้มข้น เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ จำนวนจุดความร้อน (Hotspot) พื้นที่ประสบไฟป่าลดลง และบรรลุเป้าหมายในการ "ควบคุมปัญหาไฟป่า" และ "วิกฤตหมอกควันเป็นศูนย์"