กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดประชุมอำนวยการ ติดตามสถานการณ์ไฟป่าและ หมอกควัน ปี 2560 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 65 จังหวัดเสี่ยงไฟป่า โดยประสานจังหวัด ใช้กลไก "ประชารัฐ" ขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงรุกอย่างเข้มข้นตามแนวทาง "3 มาตรการเชิงพื้นที่ 4 มาตรการบริหารจัดการ" ครอบคลุมทั้งพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ริมทางหลวง กำหนดช่วงเวลาและจัดระเบียบการเผา ประกาศเขตห้ามเผา และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกับผู้ที่ลักลอบจุดไฟในพื้นที่ห้ามเผา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการ "ควบคุมปัญหาไฟป่า" และ "วิกฤตหมอกควันเป็นศูนย์"
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ช่วงปลายฤดูหนาวต่อเนื่อง ฤดูร้อน หลายพื้นที่ของประเทศมักประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยเฉพาะ 9 จังหวัดภาคเหนือ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 เห็นชอบแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี พ.ศ.2560 ตามกรอบแนวคิดที่เน้นกลไกประชารัฐและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการควบคุมการเผา การระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนในการเฝ้าระวังและป้องกันการเผาในพื้นที่เสี่ยง ควบคู่กับการเสริมสร้างความรู้เพื่อสร้าง ความตระหนัก พร้อมบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่ลักลอบเผา ภายใต้ระบบศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จของผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อบูรณาการเตรียมพร้อมรับมือไฟป่าหมอกควันล่วงหน้าและแก้ไขปัญหาในมิติเชิงพื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัย รวมถึงบริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) จึงได้จัดประชุมอำนวยการ ติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน ปี 2560 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 65 จังหวัดเสี่ยงไฟป่า แยกเป็น เสี่ยงสูง 25 จังหวัด เสี่ยงปานกลาง 28 จังหวัด และเสี่ยงน้อย 12 จังหวัด ซึ่ง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กำชับให้ขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงรุกผ่านกลไก "ประชารัฐ" เน้นการตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงภัยป่า พื้นที่การเกษตรที่มีการเผา และการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ควบคู่กับการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่และความถี่ในการลาดตระเวนเฝ้าระวังควบคุมการเผาในพื้นที่ ทั้งนี้ ได้กำหนดมาตรการสำคัญ "3 มาตรการเชิงพื้นที่ 4 มาตรการบริหารจัดการ" ดังนี้ มาตรการเชิงพื้นที่ ซึ่งระบุช่วงเวลา พื้นที่และหน่วยงานรับผิดชอบให้ชัดเจน ครอบคลุม 3 พื้นที่ ประกอบด้วย 1.พื้นที่ป่าไม้ มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการควบคุม การเผาในพื้นที่ป่าไม้ และบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบจุดไฟเผาอย่างเข้มข้น 2.พื้นที่เกษตรกรรม มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยในการกำหนดช่วงเวลาและจัดระเบียบการเผา ประกาศเขตห้ามเผา ส่งเสริมการจัดทำแนวกันไฟ และรณรงค์การไถกลบแทนการเผา 3.พื้นที่ ริมทางหลวง มีกระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการเฝ้าระวังและควบคุมการเผาวัสดุทุกประเภทในเขตริมทางหลวง สำหรับ 4 มาตรการการจัดการ ประกอบด้วย1.มาตรการบริหารจัดการ จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดและอำเภอ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นผู้บัญชาการ ทำหน้าที่อำนวยการ สั่งการ ระดมสรรพกำลังและทรัพยากรในการควบคุมและแก้ไขปัญหาไฟป่าและ หมอกควันอย่างมีเอกภาพ 2.มาตรการสร้างความตระหนัก เน้นประชาสัมพันธ์ผลกระทบของไฟป่าและหมอกควัน บทลงโทษจากการลักลอบจุดไฟในพื้นที่ห้ามเผา พร้อมรณรงค์ปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันไฟป่าและแก้ไขปัญหาหมอกควัน 3.มาตรการลดปริมาณเชื้อเพลิง จัดทำแนวกันไฟและควบคุมการเผา ส่งเสริมการใช้สารหมักชีวภาพเพื่อย่อยสลายตอซัง และรณรงค์ การฝังกลบขยะ และการไถกลบแทนการเผา 4.มาตรการประชารัฐ โดยกำหนดกติกาชุมชน มาตรการลดการเผาในพื้นที่ป่าไม้และเศษวัสดุทางการเกษตร รวมถึงสนับสนุนการแปรรูปวัสดุทางการเกษตร ซึ่ง ปภ. จะได้บูรณาการขับเคลื่อนการป้องกันไฟป่าและแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างเข้มข้น เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ จำนวนจุดความร้อน (Hotspot) พื้นที่ประสบไฟป่าลดลง และบรรลุเป้าหมายในการ "ควบคุมปัญหา ไฟป่า" และ "วิกฤตหมอกควันเป็นศูนย์"